ทำไม พนักงานไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กร เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกแปลกใจอยู่เสมอว่าทำไมบางโครงการ หรือ กิจกรรมที่เราคิดว่าออกแบบได้ดีแล้ว ผู้บริหารทุกคนเมื่อเห็นแผนงานที่เราได้วางกรอบและกำหนดเส้นทางการดำเนินงานไว้ให้  ส่วนใหญ่ก็จะออกปากว่าดี  เยี่ยม ใช้ได้  ต้องได้รับความร่วมมือจากพนักงานแน่นอน  องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน องค์กรเราเห็นแสงสว่างแล้ว… ชมจนที่ปรึกษาตัวลอย เกิดอาการหลงตัวเองไปสักพัก https://bit.ly/36YQTw6

ความจริงที่เกิดขึ้น พนักงานไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กร

แต่ไม่นานฟ้าก็ผ่าเปรี้ยง !!! จนทำให้เราสะดุ้งตื่น ขณะที่เราเกือบจะตัวลอยหลุดออกไปนอกโลก ออกไปจากความเป็นจริงที่ไม่เคยมีอะไรแน่นอน  อะไรที่เราเคยคิดว่าง่าย  เรียบร้อย สบาย ไม่มีปัญหา  จากประสบการณ์ในชีวิตอันน้อยนิดของผม กระทุ้งเตือนเสมอว่างานที่ทำให้เราคิดหรือรู้สึกแบบนี้ “มักมีปัญหาตามมาแน่นอน” และความยุ่งยากที่เกิดขึ้นมักมาจากปัญหาที่เราคาดไม่ถึง มองข้ามไป หรือ ปัญหาที่ไม่น่าจะเป็นปัญหา

เมื่อกลับเข้าสู่โลกความเป็นจริง ผมพบว่าบางโครงการพนักงานไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กร หรือแม้กระทั่งคนที่เมื่อ 2 เดือนก่อน ยังเพิ่งออกปากชมว่าโครงการนี้ดีเยี่ยมกระเทียมดอง แต่พอเวลาผ่านมาไม่นาน คนเหล่านี้กลับไม่เข้าร่วมประชุม ไม่ออกความเห็น และทำตัวเงียบหายไปกับสายลมเสมือนไม่เคยรับรู้ว่าตนเองอยู่ในโครงการเหล่านี้ด้วย สอบถามอะไรไปก็ไม่รู้ ไม่ทราบ บางคนถึงขนาดโวยวายออกมาอย่างชัดเจนว่าอยากจะออกจากโครงการแล้ว มีข้ออ้าง  108 ประการ ซึ่งมันน่าสนใจว่าพวกเขามักยกสาเหตุอะไรขึ้นมาอ้างในการ Say No

อย่างที่เคยมีใครสักคนกล่าวไว้ว่า “ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม” ผมจำเป็นต้องค้นหาสาเหตุของปัญหาก่อนว่า เพราะเหตุใดทำไมคนมักไม่ค่อยให้ความร่วมมือ บางคนปฏิเสธไม่อยากเข้าร่วมโครงการ หรือ กิจกรรมขององค์กร ข้อมูลทั้งหมดมาจากการสัมภาษณ์รายบุคคลระหว่างผมกับผู้บริหารและพนักงานที่เคยมีโอกาสได้ร่วมงานมาในหลายช่วงของชีวิตการทำงาน   ผมเชื่อว่าคนที่เป็นผู้บริหาร หรือ หัวหน้างานคงเคยเจอสถานการณ์เหล่านี้มาไม่มากก็น้อย ทั้งงานโครงการพิเศษที่ได้มอบหมายให้พนักงานทำเพิ่มเติมจากงานประจำ หรือ แม้กระทั่งงานประจำที่พนักงานต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานแบบไหน มีโอกาสไม่ได้รับความร่วมมือทั้งจากพนักงานของเราเอง หรือ แม้แต่ฝ่ายงานอื่นที่เราต้องประสานงานด้วยเท่าเทียมกัน

สาเหตุที่พนักงานไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กร          

รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ 

ถ้าลงแรงไปแล้ว แต่รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์อะไรเกิดขึ้นจากการทำ คนจะคำนวณโดยอัตโนมัติว่าเกิดความไม่คุ้มค่า ทำไปก็ไม่เห็นจะมีอะไรเป็นประโยชน์ต่อเขา เสียเวลา เอาเวลาไปทำประโยชน์อย่างอื่นแทนดีกว่า กลุ่มที่รู้สึกแบบนี้แยกเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มที่ 1 รู้สึกว่าโครงการ หรือ กิจกรรมที่องค์กรหรือหัวหน้ามอบหมายให้ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้องค์กรเท่าที่ควร เอาเวลาที่ตนเองต้องทุ่มเทลงไปในโครงการพิเศษเหล่านั้นไปทำงานประจำของตนเองที่องค์กรมอบหมายเป็นภารกิจหลักให้ดีที่สุดดีกว่ามาเสียเวลากับเรื่องพวกนี้  จะช่วยสร้างประโยชน์ให้องค์กรมากกว่างานที่เพิ่มเข้ามา

กลุ่มที่ 2 รู้สึกว่างานที่เพิ่มเข้ามาเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลงานของตนเอง  ไม่ได้มีเงินพิเศษให้ ทำไปแล้วก็ไม่ได้เอามาคิดพิจารณาตอนสิ้นปี ไม่รู้จะทำเพิ่มไปทำไม เงินเดือนก็ได้เท่าเดิม องค์กรจ้างให้มาทำอะไรก็ทำตาม JD ก็ถือว่าจบกัน การลงไปช่วยทำภารกิจเหล่านั้นไม่สร้างประโยชน์ให้กับตนเองเพราะฉะนั้นเลือกที่จะปฏิเสธไม่เข้าร่วมโครงการดีกว่า

ไม่เห็นด้วยกับวิธีการนั้น 

หลายโครงการที่ตัวหลักการดี กรอบการดำเนินงานดี แต่วิธีการดำเนินงานอาจไม่ถูกใจใครบางคน ซึ่งเป็นเรื่องปลีกย่อย แต่เมื่อคุณทำงานกับคนหมู่มาก คุณจะพบเจอว่า เมื่อวิธีการดำเนินงานบางอย่างไม่เป็นไปตามที่เขาเสนอมา หรือ ตามวิธีการคิดของเขา  เขาก็จะรู้สึกไม่อยากทำขึ้นมาเฉยๆ  ตัวอย่างเช่น เรามีโครงการสร้างความร่วมมือกับบริษัทที่เป็นคู่ค้าของเรา มีการตกลงกรอบการดำเนินงานมาว่าอยากให้มีการจัดกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่างสองบริษัท ก็มีการโหวตร่วมกันว่าอยากจัดกีฬาอะไรบ้าง

เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมตกลงร่วมกันว่าอยากแข่งฟุตบอล แต่มีอยู่ท่านนึงเสนอว่าอยากให้แข่ง แบดมินตัน เพราะเป็นกีฬาที่ไม่มีการปะทะกัน ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการกระทบกระทั่งกัน  แต่เมื่อผลสรุปออกมาว่าจะเป็นการแข่งฟุตบอล ผู้บริหารท่านนั้นที่เสนอให้แข่งแบดมินตัน พนักงานไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กร  ไม่เข้ามาร่วมกิจกรรมนั้นเลย เมื่อผมไปสอบถามท่านก็ชี้แจงว่าบริษัทเก่าของท่านเคยแข่งฟุตบอลแล้วมีปัญหาทะเลาะกันในสนาม ท่านคิดว่ามันมีความเสี่ยงเกิดขึ้น และอาจจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่เราจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาหากเลือกแนวทางที่มีการโหวตนั้น

ไม่รู้สึกสนุกกับสิ่งที่ทำ

งานโครงการหรือกิจกรรมพิเศษที่องค์กรจัดขึ้น บางงานก็สนุก ง่าย สั้น จัดเป็นครั้งๆ จบแล้วจบ ซึ่งงานเหล่านี้คนมักให้ความร่วมมือ เหมือนการลงแขกเกี่ยวข้าว ที่เฮกันไปแล้วก็จบ ถือว่าไปสนุกสนานร่วมกัน ไม่มีการผูกมัดในระยะยาว แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ โครงการหรือกิจกรรมที่มีลักษณะแบบนี้มักได้ประโยชน์ในแง่ของการสร้างบรรยากาศ กระตุ้นความรู้สึก หรือ อารมณ์ร่วมของกลุ่มคน แต่ไม่ค่อยได้เห็นผลขอการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาในระยะยาวที่เป็นรูปธรรม เหมือนคนชอบจัดงานเป็น Event แต่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับการปรับปรุงโครงสร้างการทำงาน หรือระบบสักเท่าไหร่  เพราะงานที่เป็นโครงการที่จะสร้างผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในองค์กร ส่วนมากมีลักษณะเป็นโครงการต่อเนื่อง ใช้ระยะเวลายาวนาน เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก บางงานก็เป็นงานที่ยาก ไม่สนุก เครียดเพราะมีผลกระทบเยอะ เมื่อคำนวณแล้วว่าจะต้องเอาตนเองเข้าไปพัวพันกับงานที่มีลักษณะแบบนี้ คนจึงเลือกที่จะปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ แต่ก็ยังทิ้งท้ายไว้ว่า  “แต่มีอะไรให้พี่ช่วยก็บอกได้นะ” ซึ่งในความหมายของคำพูดนี้ก็คือ “ถ้ามีงานอะไรสนุกๆ สั้นๆ จัดเป็นครั้งคราว บอกพี่ด้วยนะ

ไม่มีเป้าหมายในชีวิต

ถ้าไม่โลกสวยจนเกินเลย เราจะพบว่าคนทำงานจำนวนมากไม่ได้มีเป้าหมายในชีวิตการทำงานทุกคน แต่ทุกคนต้องการเงินเดือนขึ้นทุกปี ต้องการโบนัสสูงทุกปี  แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้อยากเรียนรู้ทักษะอะไรใหม่  ไม่มีความกระตือรือร้นอยากพัฒนาตนเอง ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ขอแค่อยู่ไม่โดนนายด่าก็พอใจ อย่ามายุ่งกับฉัน ให้คนอื่นที่เขาอยากก้าวหน้าทำงานเหล่านี้ไปเถอะ ฉันพอแล้ว  ไม่ได้หวังก้าวหน้ากว่านี้อีกแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร   บางคนนอกจากไม่มีเป้าหมายในชีวิตแล้ว นิสัยส่วนตัวก็เป็นคนขี้เกียจมาแต่เดิม เลือกที่จะรับงานให้น้อยที่สุด มีความสุขที่สุด คือ ไม่ต้องมีคนมาวุ่นวายกับฉัน เพราะฉันก็จะไม่วุ่นวายกับใคร แต่ในทางตรงกันข้าม

คนกลุ่มนี้จะมีความสุขมากเวลาที่ได้มองหาสถานที่เที่ยวสำหรับวันหยุดยาว พวกเขาจะกระตือรือร้น แววตามีประกายของความเป็นอัจฉริยะเวลาที่ค้นพบสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่ไม่เคยไป สามารถจองตั๋วเครื่องบินราคาถูกทันช่วงโปรโมชั่น  และพฤติกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาทำงาน สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนถึงพลังอันแฝงเร้นจากการที่คนมีเป้าหมาย หรือไม่มีเป้าหมายกับเรื่องใด เขาไม่อยากทำงานที่ได้รับมอบหมายเพราะเขาไม่มีเป้าหมายกับเรื่องนั้น เขารู้สึกว่าเรื่องนั้นไม่เกี่ยวข้องกับเขา เป็นเรื่องของคนอื่น เป็นเรื่องขององค์กร เขาไม่ได้เป็นเจ้าของหรือเจ้าภาพที่มีเป้าหมายของการทำงานนั้นให้สำเร็จ แต่กับเรื่องท่องเที่ยววันหยุดเป็นเป้าหมายสำคัญของเขา เขาจึงเต็มที่กับภารกิจนั้น รู้สึกสนุกกับมัน ทำให้เขาสามารถนั่งหาข้อมูลอดหลับอดนอนได้ถึงดึกดื่นก็ไม่ใช่ปัญหา

สรุป

สำหรับการทำโครงการหรือกิจกรรมอะไรให้สำเร็จ สำหรับผมแล้วถือเรื่องการสร้างความร่วมมือให้คนในองค์กรเป็นส่วนสำคัญที่สุด ยาที่ดีเพียงใด หากผู้ป่วยไม่ร่วมมือทานยาครบถ้วนตรงเวลา ก็ไม่มีทางที่อาการไม่สบายจะหายได้ หรือกว่าจะหายก็ใช้เวลานานมาก โครงการที่ดีเพียงใด หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารหรือพนักงาน โครงการเหล่านั้นก็จะเกิดขึ้นและหายไปอย่างไร้ความหมายในที่สุด