สารบัญ

บทนำ

การทำงานด้านที่ปรึกษา หรือ แม้กระทั่งในบทบาทของผู้บริหารองค์กร ผมมักแอบสังเกต ตัวอย่างการสื่อสาร และพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมประชุม  เมื่อต้องมีการพูดคุยกันในเรื่องสำคัญต่างๆ  ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่ผมมักพบว่ามี ตัวอย่างการสื่อสาร ตัวอย่างพฤติกรรมที่คนส่วนมากมักทำกันเป็นประจำโดยไม่รู้ว่า เราทำกันไปเพื่ออะไร ต้องการอะไร เพราะผลลัพธ์ที่ตามมาเกือบทุกครั้งหลังจากทำพฤติกรรมดังกล่าว ก็ไม่ได้ช่วยให้บรรยากาศในการพูดคุยกันเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น กลับยิ่งทำให้สถานการณ์ระหว่างกันเกิดความตึงเครียด อึมครึม และน่าอึดอัดเป็นอย่างยิ่ง  หลายครั้งที่เสียเวลาประชุมกันทั้งวันแต่กลับไม่ได้ผลลัพธ์ที่จะเอาไปปฏิบัติได้สักอย่าง การประชุมหลายครั้งเป็นเพียงเวลาของการระบายความรู้สึก ช่วงเวลาของการแสดงตัวตนให้คนอื่นยอมรับ และก็พบกับการผิดหวังกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่าเกือบทุกคน

นอกจากเรื่องงานแล้ว ตัวอย่างการสื่อสาร ที่ไม่สร้างสรรค์สามารถพบได้เสมอเมื่อเราต้องสื่อสารเรื่องสำคัญๆ เรื่องที่มีผลกระทบ เรื่องที่อ่อนไหวกับความรู้สึก เรื่องที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น พ่อแม่ที่พูดกับลูกเรื่องการเล่นเกมที่มากเกินไป แฟนสาวที่พบว่าแฟนหนุ่มแอบคุยไลน์กับสาวหน้าใส เพื่อนที่อยากคุยกับเพื่อนร่วมห้องที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาด  หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้านที่ชอบจอดรถบังหน้าบ้านเรา

ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองคิดดูสิว่ามีพฤติกรรมการสื่อสารแบบไหนที่เมื่อเราประพฤติปฏิบัติไปแล้วทำให้คนส่วนใหญ่ที่เราพูดคุยด้วยรู้สึกไม่ดี  เป็นการสื่อสารที่สร้างผลกระทบต่อความรู้สึกบางอย่างของผู้ฟังในเชิงลบ ทำให้เขารู้สึกว่าตัวตนของเขา (Identity) ซึ่งได้แก่ ความมั่นใจ ความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจ ศักดิ์ศรี ของเขาถูกสั่นคลอน ถูกรบกวน ทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ และรู้สึกว่าเราไม่ยอมรับในตัวตนของเขา  ผมเรียกวิธีการสื่อสารที่ให้ผลลัพธ์ดังที่กล่าวมาว่า “การสื่อสารแบบไม่สร้างสรรค์”

ปรากฎการณ์ที่ผมสังเกตเห็นมาเป็นเวลาหลายปีนี้ ถูกประพฤติปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครเป็นต้นกำเนิด แต่สิ่งที่ผมมั่นใจได้ก็คือ หลายรูปแบบที่เราแสดงออกกับคู่สนทนาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นคนที่ใกล้ชิด คนในครอบครัว หรือ คนที่เพิ่งเคยเจอกันครั้งแรกบนท้องถนน ไม่ได้ช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการสื่อสารเลย

ตัวอย่างการสื่อสาร

ผลลัพธ์ของ ตัวอย่างการสื่อสาร แบบไม่สร้างสรรค์

สร้างความผิดพลาด     ไม่ได้รับความร่วมมือ    สูญเสียความสัมพันธ์และสร้างความขัดแย้ง

เมื่อเราใช้วิธีการสื่อสารที่ไม่สร้างสรรค์ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก คือ ความผิดพลาด แปลว่า เราจะไม่ได้ในสิ่งที่เราคาดหวัง  เมื่อเราคาดหวังให้เกิดการแก้ปัญหา เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวก แต่สิ่งที่เราสื่อสารออกไปไม่สามารถทำให้เราได้ในสิ่งที่เราต้องการ   อีกทั้งสิ่งที่แสดงออกไปกลับทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าเราไม่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น  เขาจะรู้สึกไม่ปลอดภัย  เกิดความกลัวว่าจะสูญเสียตัวตนที่เขามีอยู่ ซึ่งได้แก่ ความภาคภูมิใจ ศักดิ์ศรี หรือ กลัวว่าเขาจะไม่ได้รับในสิ่งที่ต้องการ นั่นคือ การเป็นคนสำคัญ เป็นคนพิเศษเหนือผู้อื่น

ความกลัวดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดความเครียด ความอึดอัด ยิ่งอยู่ในสภาวะดังกล่าวนานเท่าไร สารแห่งความเครียดยิ่งถูกหลั่งออกมามากเท่านั้น สภาวการณ์เช่นนี้จึงไม่ใช่บรรยากาศของการสร้างความร่วมมือ   หากคนที่เราพูดคุยด้วยรู้สึกไม่สบายใจเวลาที่ต้องสื่อสารกับเรา ถ้าเขาเลือกได้เขาก็คงไม่อยากที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเราในระยะยาว

เมื่ออ่านมาถึงย่อหน้านี้แล้ว ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงปรารถนาที่จะรู้แล้วสิว่า พฤติกรรมแบบไหนบ้างที่เรียกว่าไม่สร้างสรรค์ แก้ปัญหาไม่ได้และยังสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่ดี จะตรงกับที่ท่นผู้อ่านได้ลองคิดเมื่อสักครู่นี้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมขออนุญาตรวบรวมพฤติกรรมการสื่อสารแบบไม่สร้างสรรค์ที่ผมพบเจออยู่เสมอ 2 ลักษณะใหญ่ๆ ที่ผมเรียกว่า พฤติกรรมการ “หมอบ”  และการ “ขย้ำ” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

พฤติกรรมการสื่อสารแบบไม่สร้างสรรค์

1.หมอบ  คือ  การที่เราเลือกที่จะเก็บซ่อนความรู้สึก ความคิดของเราไม่ให้แสดงออกมาอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา โดยเราเลือกใช้หลายวิธีในการหลบซ่อน อำพรางสิ่งที่อยู่ภายในใจ ด้วยการแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการหลีกเลี่ยงการปะทะ การโต้คารม การทะเลาะวิวาท และยังเป็นการแสดงออกที่สามารถปกป้องศักดิ์ศรีที่เรามีอยู่ไว้ไม่ให้สูญหายไปได้ เสมือนเกราะที่แข็งแกร่งที่ไม่มีผู้ใดผ่านทะลุเข้ามาทำอันตรายได้ ไม่ได้มีผลต่อความรู้สึกของเรา  โดยมีทั้งสิ้น 4 วิธีดังนี้

เมินเฉย

: ไม่สนใจ ไม่แยแส เงียบ ไม่พูด ทำเสมือนไร้ตัวตน อยู่ก็เหมือนไม่อยู่  ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้า ท่านผู้อ่านเคยเจอพฤติกรรมเหล่านี้บ้างไหม เช่น เวลาที่เราไม่ชอบใคร เราก็จะแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นเวลาที่คนนั้นเดินผ่าน เราอาจแกล้งทำเป็นคุยกับคนอื่น หรือ แกล้งเดินก้มหน้า ก็ล้วนแล้วแต่คิดสรรกันได้ตอนนั้น  มีหลายเหตุการณ์ที่เราเลือกแสดงพฤติกรรมเมินเฉยใส่คนอื่น เช่น ตอนเราเป็นเด็กพ่อแม่ห้ามไม่ให้เราซื้อขนมถุงละ 5 บาท เมื่อท่านรู้ว่าเราขัดคำสั่ง ก็จะเริ่มดุด่าว่ากล่าว เด็กส่วนมากเลือกวิธีการนั่งเงียบกอดอก ก้มหน้า ไม่เถียงแต่ก็ไม่ทำตาม น่าแปลกใจมากที่เมื่อเรานั่งก้มหน้าเงียบ ไม่หือไม่อือ  แทนที่พ่อแม่จะหยุดดุด่าเรา  กลับยิ่งโมโหมากขึ้น  จนคว้าไม้กวาดมาไล่ตีเรา บางครั้งเราก็ติดพฤติกรรมเมินเฉยแบบนี้มาตอนโต เมื่อเราไม่ชอบหัวหน้าของเรา เวลาเราจะไปไหนมาไหน มาสาย ออกไปข้างนอก เราก็อาจทำโดยไม่ต้องแจ้งหัวหน้าของเรา ทำเสมือนเขาไม่มีตัวตน

อำพราง

พูดว่าเห็นด้วย พูดว่าตกลง พูดว่าไม่มีปัญหา  ยอมรับสภาพ  เหมือนจำใจตอบให้พ้นๆไป ปิดบังความไม่เห็นด้วยภายในจิตใจ  พูดออกมาอีกแบบทั้งที่ใจไม่ได้รู้สึกแบบนั้น  บ่อยครั้งที่เราเลือกอำพรางความรู้สึกที่แท้จริงด้วยการพูดออกไปในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเราคิด เพื่อให้การสนทนาดังกล่าวผ่านพ้นไปให้เร็วที่สุด โดยเราแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่พูดออกไปเลยด้วยซ้ำ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็อาจสืบเนื่องมาจากที่เรารู้สึกว่าไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ไม่อยากแสดงความคิดเห็นคัดค้าน หรือ แสดงความคิดเห็นอื่น เพราะแสดงความคิดเห็นไปก็เท่านั้น คนอื่นคงไม่สนใจอะไร

ประชด

พูดเสียดสี เหน็บแนม เย้ยหยัน  ทำนอง ก็ลองดู , ก็เอาสิ , อยากทำอะไรก็ทำ, …  น้ำเสียงคล้ายๆไม่สนใจแล้ว  ไม่เชื่อมั่นแล้ว แต่ไม่ได้พูดตรงๆตามความรู้สึก ไม่แสดงออกตรงๆว่าคัดค้าน อยู่ฝ่ายตรงข้าม  การพูดประชดประชันเกิดขึ้นทำนองที่ว่าก็เตือนแล้วก็บอกแล้ว ยังไม่เชื่อ ไม่ทำตามอีก ถ้างั้นก็ยุส่งให้ลองทำไปเลย จะได้เห็นผลกลับมาว่ามันจะล้มเหลวอย่างไร จะได้รู้สักทีว่าสิ่งที่ฉันเคยพูดเคยเตือนนะดีกว่าสิ่งที่พวกเธอกำลังทำ

หนีหาย

การออกจากวงสนทนา ยุติการพูดคุย ทิ้งทุกอย่าง ไม่สนใจแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่อยากร่วมรับผิดชอบอะไรก็ตามในการพูดคุยครั้งนี้แล้ว เช่น ถ้ามีเพื่อนร่วมงานคนนี้อยู่ในการประชุม เราเลือกที่จะไม่เข้าประชุม หรือ เลือกที่จะไม่อยู่เผชิญหน้า โดยมีข้ออ้างต่างๆนานา เช่น ไม่สบาย ติดธุระ หรือที่ร้ายแรงมากกว่านั้นอาจเป็นการเลือกที่จะลาออกจากงานตรงนั้นเลยโดยให้เหตุผลอื่นแทนเหตุผลที่แท้จริง

ขย้ำ   คือ การที่เราเลือกแสดงความรู้สึก ความคิด อารมณ์ของเราออกมาอย่างชัดเจน โดยเราเลือกใช้หลายวิธีในการขย้ำ  ด้วยการแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการสยบอีกฝ่าย  ให้หยุดการเป็นปรปักษ์ เลิกการต่อต้าน โต้เถียง แล้วยอมสยบกับเรา ไม่ทำพฤติกรรมที่คุกคามทำให้เราเกิดความรู้สึกกลัวหรือไม่ปลอดภัยต่อไปอีกโดยมีทั้งสิ้น 4 วิธีดังนี้

กดหัว

แสดงและย้ำในสถานะที่สูงกว่าคู่สนทนา อาจเป็น ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา ชนชั้น วรรณะ บทบาททางสังคม เพื่อทำให้คู่สนทนารู้สึกต่ำต้อย ไม่คู่ควร ไม่มีค่าเพียงพอที่จะโต้ตอบ เช่น เมื่อพ่อแม่รู้สึกว่าลูกไม่เชื่อฟังคำแนะนำของตนเอง พ่อแม่ก็จะอ้างว่าพวกเขาอาบน้ำร้อนมาก่อน  ห้ามเถียงพ่อแม่ หรือ หัวหน้าที่จะอ้างว่าทำงานมาก่อน มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มากกว่า ต้องทำแบบนี้เท่านั้น การพูดทั้งหมดเพื่อให้อีกฝ่ายยอมสยบและเชื่อฟัง

ค้ำคอ

อ้างแต่หลักฐาน ข้อมูล งานศึกษา งานวิจัย คำพูดของผู้มีชื่อเสียง เพื่อเอามายืนยันพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนเองคิดหรือพูดถูกต้อง และอีกฝ่ายผิด โดยไม่รับฟังสิ่งที่คนอื่นพูด เอาแต่อ้างสิ่งต่างๆขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความคิดตนเองโดยอีกฝ่ายไม่กล้าหักล้าง ต้องเป็นฝ่ายยอมรับฟัง ห้ามโต้เถียง และจงทำตามเท่านั้น

ข่มขู่

พูดเกินเลยจากความเป็นจริง สร้างภาพที่มันเลวร้ายเกินไป สร้างความหวาดกลัวให้อีกฝ่าย  เพื่อให้ยอมรับและทำตามความคิดและคำพูดของเขา เช่น ถ้าเธอไม่เชื่อสิ่งที่ฉันพูด เหตุการณ์จะรุนแรงร้ายแรงขนาดไหน ถ้าเธอไม่ฟังพี่ ยอดขายปีนี้ดิ่งลงเหวแน่  การพูดสิ่งที่เกินเลยความจริง เพื่อให้อีกฝ่ายเกิดความกลัว และจะได้เลิกโต้เถียงสิ่งที่เราพูดสักที

คำราม

การกล่าวหา ใส่ร้าย ปรักปรำ และโจมตีคู่สนทนาให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด ให้คนอื่นมองอีกฝ่ายในแง่มุมที่ไม่ดี  บอกให้ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของอีกฝ่ายทั้งหมด เช่น เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น เราจะชิงกล่าวโทษคู่สนทนาของเราก่อน เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ทำผิดก่อน เพราะฉะนั้นเธอไม่มีสิทธิ์มาว่าฉัน เหมือนชายหนุ่มที่ชิงพูดโทษแฟนสาวว่าขี้โวยวาย ใช้อารมณ์ น่าเบื่อ ก่อนที่หญิงสาวจะได้มีโอกาสพูดเรื่องจับได้ว่าผู้ชายแอบไปเที่ยว  การพูดกล่าวโทษคนอื่นเพื่อปัดความรับผิดชอบของตนเอง

น่าเสียดายที่ความจริงเราพบว่าพฤติกรรม หมอบ และ ขย้ำ ที่แสดงออกมาเนิ่นนานนั้น ไม่ได้ช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของเราว่าต้องการอะไรกันแน่ เมื่อเราแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ออกไป กลับทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรากำลังทำร้ายจิตใจเขา ทำลายศักดิ์ศรีของเขา ไม่เห็นเขามีความสำคัญ แน่นอนที่เขาจะรู้สึกว่าเราไม่ใช่พวกเดียวกับเขา ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทำให้เราและเขาห่างไกลกันทุกที เพราะเขาก็จะทำพฤติกรรมการสื่อสารที่ไม่ดีโต้ตอบกลับเช่นกัน https://bit.ly/3NzI4cw

สรุป

พฤติกรรมหลายอย่างของเราที่แสดงออก มีจำนวนมากที่เราไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีเจตนาแสดงออกไปอย่างนั้น แต่ด้วยสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา สัญชาตญาณดั้งเดิมของเราขับเคลื่อนให้เราแสดง ตัวอย่างพฤติกรรม แย่ๆออกมา แม้เราไม่ตั้งใจ แต่เมื่อผลลัพธ์ออกมา ก็ยากที่เราจะปฏฺเสธความรับผิดชอบดังกล่าวนั้นได้ จะดีไหมถ้าเราสามารถ สื่อสารเชิงสร้างสรรค์กันได้