ปัญหาที่ผมเจอในการทำงานด้านปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในองค์กรจำนวนมาก โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นธุรกิจผูกขาด ธุรกิจสัมปทาน  หรือ องค์กรที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันอย่างรุนแรง  คือ พนักงานจำนวนมากทำงานไปวันๆ สั่งก็ทำ ไม่สั่งก็ไม่ทำ ขาดแรงจูงใจ ทำงานแบบขอไปที ไม่เอาใจใส่ ไม่คิดที่จะพัฒนาตนเอง ขาดความหวัง และแรงบันดาลใจที่จะก้าวไปข้างหน้าร่วมกับองค์กร และที่ร้ายแรงมากก็คือ คนส่วนใหญ่ในองค์กรเหล่านั้นต่างก็มีความรู้สึกว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในองค์กรของตนเป็นเรื่องเป็นปกติ ธรรมดาและคนอื่นก็เป็นเหมือนกัน ความรู้สึกนั้นกลายเป็นความคิด ความคิดกลายเป็นความเชื่อ จนสุดท้ายกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร กลายเป็นองค์กรแห่งความเฉื่อยชาและเฉยเมยต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว https://bit.ly/3DLJhZR

ผู้บริหารองค์กรต่างรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น และทุกคนก็เบื่อหน่ายอย่างถึงที่สุดเช่นเดียวกัน   หงุดหงิดใจทุกครั้งที่ให้พูดถึงพฤติกรรมการทำงานของพนักงานในองค์กร    ผู้บริหารหลายคนไม่รู้จะแก้ปัญหานี้อย่างไร นอกจากเอาหูไปนาเอาตาไปไร่  หรือหนักข้อเข้าก็เรียกมาบ่น  เรียกมาว่าสักหน่อย  ดีขึ้นไม่กี่วันก็กลับมาเป็นอย่างเดิม แล้วจากการบ่น การตำหนิจบสิ้นลงทุกอย่างก็กลับสู่สภาพเดิม  หลายสิบปีที่ผ่านมาจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าเสียงบ่นและการถอนหายใจยาวๆของผู้บริหารอย่างเดียวแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้สักเท่าไหร่

ถ้าท่านผู้อ่านลองแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้วด้วยหลากหลายวิธีการ  ผมอยากขอเชิญชวนท่านลองวิธีการเหล่านี้ดูบ้างไหมครับ  เผื่อว่าพนักงานของท่านอาจกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้วหนึ่ง ผมเรียกมันว่า  “การสร้างโอกาสให้พนักงานได้เติบโต” ได้เกิดความก้าวหน้า เกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกเป็นคนสำคัญ ได้เรียนรู้ มีประสบการณ์อันน่าประทับใจ ได้เติบโต ทั้งในด้านความคิด มุมมองในการทำงานรวมถึงได้วิธีคิดใหม่ที่สามารถติดตัวพนักงานของเรานำไปใช้ในชีวิตส่วนตัว

              วิธีการสร้างโอกาสให้พนักงานเติบโต

Empowerment  คือ การให้อำนาจทีมงานได้ตัดสินใจด้วยตัวเขาเองในงานบางเรื่อง บางระดับตามแต่ความสามารถของตัวทำ และเงื่อนไขขององค์กรที่สามารถทำได้   หากผู้นำต้องการสร้างโอกาสให้กับทีม ผู้นำควรให้ทีมงานได้เริ่มตัดสินใจจัดการแก้ไขปัญหาบางประการด้วยตัวเขาเอง  เมื่อพวกเขามีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ พวกเขาอาจจะอยากแสดงความรู้ ความสามารถออกมาจากศักยภาพที่เขามีอย่างเต็มที่มากขึ้น   เขาจะรู้สึกว่าหัวหน้าไว้วางใจมากขึ้น    รู้สึกมีตัวตน มีความสำคัญยิ่งขึ้น   มากกว่าการเป็นเพียงคนรับคำสั่งไปปฏิบัติตามเหมือนที่ผ่านมา หัวหน้าเป็นเพียงผู้คอยติดตามผลลัพธ์ คอยให้คำแนะนำบางครั้ง และเป็นกำลังใจ

ผมเลือกใช้คำว่า Empowerment กับบางเรื่อง เพราะเราจะค่อยๆให้โอกาสเขาได้ตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ก่อน ความเสี่ยงไม่สูงนัก โอกาสสำเร็จสูง ผลกระทบไม่เยอะมาก  เพราะถ้าให้ตัดสินใจเรื่องยากหรือเรื่องที่มีผลกระทบสูงเลย  หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาจะได้ไม่มีผลกระทบที่ร้ายแรงมากนัก   หลายคน Empowerment ลูกน้องโดยการให้ลูกน้องตัดสินใจทุกเรื่อง   ซึ่งบางเรื่องก็ยากเกินไปในช่วงแรก อาจทำให้ทีมงานของเราเกิดภาวะ Shock ได้  โอกาสที่เราสร้างให้เขา จึงต้องมาพร้อมกับเวลาให้เขาปรับตัวด้วย เริ่มต้นจากง่ายไปหายากเสมอ เหมือนที่ผมเคยย้ำมาตลอด

Project Leader  คือ การสร้างโอกาสให้เขาได้เป็นคนควบคุมดูแลโครงการต่างๆบ้าง  จากพนักงานคนหนึ่ง จากสมาชิกทีมกลายเป็นผู้นำที่ต้องรับผิดชอบเต็ม 100% กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับโครงการ   พวกเขาจะรับรู้ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของ (Owner) ความคิด การกระทำ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่  เมื่อรับรู้ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของ ความรู้สึกนี้ช่วยให้ทีมงานต้องใช้ความพยายามในการดึงศักยภาพที่มีออกมาให้มากที่สุดเพื่อสร้างให้เกิดผลงานที่ดีที่สุด

เมื่อผู้นำให้โอกาสทีมงานเป็นเจ้าของโครงการ บางคนที่เราไม่เคยรู้เลยว่าเขามีความสามารถของการเป็นผู้นำหรือไม่ เขาจะได้โอกาสในการแสดงฝีมือในการบริหารจัดการทีม การแก้ไขปัญหา และการนำพาทีมงานให้ประสบความสำเร็จ

มีหลายครั้งที่พนักงานธรรมดาทั่วไป เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมในโครงการสร้างวัฒนธรรมองค์กร พวกเขากลับแสดงความสามารถจนหลายคนประหลาดใจ หลายคนไม่เชื่อว่าพนักงานธรรมดาคนนี้ คนที่แทบจะไม่เคยแสดงความคิดเห็นอะไรเลยในการทำงานเมื่ออยู่ในฝ่ายงานของตน  กลับกลายเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นภาวะผู้นำ แสดงออกถึงความรับผิดชอบและกลายเป็นนักประสานสิบทิศเข้าไปพูดคุยพูดจาประสานความร่วมมือกับฝ่ายงานอื่นอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

Work with Executive  คือ การสร้างโอกาสให้ทีมงานได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูง(ที่มีความสามารถ) จะทำให้ผู้บริหารได้เห็นความสามารถที่ทีมงานของเรามีอยู่   สิ่งนี้อาจเป็นประตูบานแรกของการได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่อีกหลายอย่างจากการทำงานในองค์กร การทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดความไว้วางใจ  เมื่อผู้บริหารเห็นความสามารถ เห็นแววในการทำงาน  เวลาที่มีงานอะไรใหม่เข้ามา และผู้บริหารต้องการทีมทำงานที่มีความสามารถ ผู้บริหารไว้เนื้อเชื่อใจ รู้สไตล์ของกันและกัน เพราะจะช่วยให้การทำงานราบรื่น  เขาจะนึกถึงใครถ้าไม่ใช่นึกถึงสมาชิกทีมของเราเป็นอันดับแรก

ทีมงานของเราก็จะได้ซึมซับสไตล์การบริหารงานบางอย่างของผู้บริหารผ่านการทำงานร่วมกัน ถือเป็นการเรียนลัดสู่ความสำเร็จอีกทางหนึ่ง  เพราะถ้าท่านสามารถทำงานได้แบบผู้บริหาร องค์กรไหนจะกล้าจ้างท่านให้เป็นเพียงแค่พนักงาน

สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างสูงเวลาที่พนักงานของเราได้ทำงานร่วมกับผู้บริหารที่มีความสามารถ พวกเขาจะได้เรียนรู้ทัศนคติและวิธีคิดของคนเหล่านี้ที่ช่วยผลักดันให้สามารถก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จได้ในองค์กร สิ่งเหล่านี้คงไม่มีใครมมานั่งสอนนั่งบอกกัน เพียงแต่พนักงานจะได้เก็บเกี่ยวจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้บริหารเหล่านั้นในขณะที่ได้นั่งปรึกษาพูดคุยเมื่อต้องทำงานร่วมกัน ต้องเผชิญสถานการณ์บางอย่างร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จะซึมซับเข้าสู่ตัวพนักงานของเราได้อย่างไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองเรียนรู้จากที่อื่น

Work with Professional คือ การสร้างโอกาสให้พนักงานได้ร่วมงานกับมืออาชีพที่บริษัทจ้างเข้ามาช่วยในการทำโครงการหรือภารกิจอะไรบางอย่าง เช่น การจ้างที่ปรึกษาเข้ามาทำโครงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร(Culture Change) โครงการ QA โครงการ KAIZEN หรือโครงการอื่นๆ   ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรเวลาที่ต้องมีการจ้างมืออาชีพด้านต่างๆเข้ามาทำงาน  ผู้บริหารองค์กรต้องตระหนักอยู่เสมอว่าไม่ใช่เพียงแค่จ้างพวกเขามาทำงานให้เสร็จแล้วรับเงินค่าจ้างกลับไป  เพราะจากที่ผมพบเจอมาก็คือ เมื่อมืออาชีพเหล่านั้นกลับออกไป องค์กรจำนวนมากไม่สามารถดำเนินโครงการเหล่านั้นต่อได้เลย  เพราะพนักงานในองค์กรไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมและเรียนรู้กระบวนการทำงาน กระบวนการคิด รวมถึงเทคนิคต่างๆที่มืออาชีพเหล่านี้ใช้ในขณะดำเนินโครงการ จึงนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่โอกาสอันดีเหล่านี้ถูกปล่อยให้หลุดมือไปโดยที่หลายโครงการได้เพียงกองเอกสารไว้ดูต่างหน้าเวลาที่ต้องจ่างเงินไปเป็นจำนวนมาก

เมื่อเราจ้างมืออาชีพเข้ามาทำงานแล้ว องค์กรต้องมอบหมายให้พนักงานที่ในอนาคตต้องเข้ามารับผิดชอบโครงการเหล่านี้ต่อได้มีโอกาสเข้ามาทำงานร่วมกับทีมที่ปรึกษาและมืออาชีพเหล่านี้อย่างใกช้ชิด ทำตัวให้เสมือนเป็นหนึ่งในทีมของพวกเขาเลย เรียนรู้ ช่วยเหลือมืออาชีพเหล่านี้ในทุกด้าน เรียนรู้ให้มากที่สุด ไม่เข้าใจตรงไหนต้องถามเลย ผู้บริหารอาจต้องยอมเสียสละเวลาทำงานส่วนตัวของพนักงานเหล่านี้ที่เรามอบหมายให้ทำงานร่วมกับที่ปรึกษาบ้าง แต่เชื่อผมเถอะครับมันคุ้มมากหากพนักงานของเราได้เรียนรู้เทคนิคเฉพาะตัวของมืออาชีพเหล่านี้ และอนาคตพนักงานที่ได้ทำงานร่วมมืออาชีพจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการต่อไปลดรายจ่างขององค์กรได้อีกมากครับ และตัวพนักงานเองก็จะได้มีความภาคภูมิใจและมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

Job rotation คือ การสร้างโอกาสให้ทีมงานได้หมุนเวียนไปทำงานในหน้าที่อื่นที่ไม่เคยทำมาก่อน   การหมุนเวียนงานนี้ช่วยให้ทีมงานได้แสดงความสามารถว่ามีศักยภาพที่เพียงพอหรือไม่ในการก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งบริหาร สามารถทำความเข้าใจในลักษณะงานด้านต่างๆและเชื่อมโยงงานแต่ละอย่างที่มีความสำคัญขององค์กรเข้าด้วยกันได้หรือไม่  มุมมองในการทำงานจะกว้างขึ้น เข้าใจภาพรวมของธุรกิจมากขึ้น และที่สำคัญ คือ เข้าใจเงื่อนไขและข้อจำกัดของฝ่ายงานอื่นมากขึ้น เวลาทำงานร่วมกันในอนาคตจะได้เห็นอกเห็นใจกัน ไม่จ้องที่จะกินเลือดกินเนื้อกันแบบที่ผ่านมา เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีวุฒิภาวะมากขึ้น

ทีมงานบางคน  เดิมทำงานอยู่ฝ่ายบัญชี และได้รับโอกาสให้หมุนเวียนมาดูแลงานด้านฝึกอบรม ก็สามารถทำได้ดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนที่ทำงานด้านฝึกอบรมหรือเรียนจบด้านนี้มาโดยตรง    ผมเคยพบว่า พนักงานคนหนึ่งสามารถใช้ศักยภาพที่มีในงานบัญชี เช่นเรื่องความรอบคอบ ความเป็นระบบ เข้ามาช่วยพัฒนางานด้านฝึกอบรมให้เกิดการจัดระบบฐานข้อมูลการพัฒนาพนักงานที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อพนักงานมีการหมุนเวียนไปเรียนรู้งานด้านอื่น เขาจะได้เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนกลุ่มคนที่คบ เขาจะได้เห็นวิธีคิด ทัศนคติแบบใหม่ เมื่อเข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ เขาจะเริ่มเรียนรู้การปรับตัว การสร้างความประทับใจแรกพบ ปรับวิธีพูดจา การปฏิบัติตัว ดังคำพูดที่ว่าเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าเมื่อพนักงานมีการหมุนเวียนงานพวกเขาจะกระตือรือร้นมากขึ้นเพื่อพิสูจน์ตนเอง แต่แน่นอนก็มีบางคนเมื่อเปลี่ยนงานแล้วปรับตัวไม่ได้ ก็ลาออกจากองค์กรไปเลยก็มี ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะไม่ทำให้กรณีแบบนี้เกิดขึ้นก็คือ การสื่อสารทำความเข้าใจเสียแต่เนิ่นๆว่าการหมุนเวียนงาน ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นวิถีปฏิบัติขององค์กรนี้ที่จะหมุนเวียนงานเพื่อให้พนักงานเติบโตอยู่เสมอ พนักงานต้องเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ตั้งแต่เนิ่นๆ

Working Aboard  คือ การสร้างโอกาสให้ทีมงานได้ไปทำงานที่ Location อื่นในต่างประเทศ  ทีมงานของเราจะต้องทำงาน และต้องแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน ต้องประสานการทำงานกับผู้ร่วมงานที่เป็นชาวต่างชาติ   ต่างภาษาและ ต่างวัฒนธรรม  โอกาสเช่นนี้ช่วยให้ทีมงานของเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว เพราะการไปทำงานต่างประเทศส่วนมากทีมงานที่ได้รับโอกาสนี้มักต้องช่วยเหลือตนเองในหลายๆด้าน

พนักงานหลายคนไม่เคยเชื่อเลยว่าตนเองสามารถไปทำงานยังต่างประเทศได้ โอกาสเช่นนี้ช่วยทลายกำแพงความเชื่อนั้น      พนักงานของโรงงานปลาทูน่าแห่งหนึ่งให้โอกาสพนักงานไปทำงานต่างประเทศ   ไม่ถึง 2 ปีพนักงานเหล่านั้นได้สร้างผลงานไว้มากมายจนเป็นที่ยอมรับ    หลายคนสามารถก้าวขึ้นมาบริหารทีมงานที่เป็นชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด ได้อย่างยอดเยี่ยม

แนวคิดแบบนี้เริ่มแพร่หลายในองค์กรชั้นนำของประเทศที่มีการติดต่อค้าขาย มีสำนักงานในต่างประเทศ เริ่มที่จะให้พนักงานจากประเทศไทยได้เข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญแทนที่ชาวต่างชาติ และหมุนเวียนพนักงงานเหล่านั้นไปตามประเทศต่างๆที่มีสาขา หรือมีโรงงานที่คนไทยไปซื้อหุ้นเป็นเจ้าของอยู่ และในอนาคตเมื่อเปิด AEC แนวทางนี้จะกลายเป็นแนวทางหลักที่ใช้ในการสร้างโอกาสให้พนักงานได้เติบโต พนักงานที่ได้โอกาสเหล่านี้มักมีบุคลิกพิเศษ คือ เตรียมพร้อมรับมือและสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรับต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการทำงานกับเพื่อนร่วมงานต่างวัฒนธรรมได้ดีพอสมควร และนั้นคือคุณลักษณะที่คนทำงานจำเป็นต้องมีที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้

คนที่มีความหวัง คือ คนที่เห็นคุณค่าของการมีลมหายใจ พนักงานที่มีความหวัง คือ พนักงานที่ยังเชื่อว่าองค์กรแห่งนี้จะทำทุกอย่างเต็มที่เพื่อให้พนักงานเติบโตเคียงข้างไปกับองค์กร

อ่านสามารถอ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.noppol.net/