รับมือความเห็นต่างทางความคิด (Dealing With Different Opinions)

รับมือความเห็นต่างทางความคิด (Dealing With Different Opinions)

บทนำ

การรับมือ “ความเห็นต่างทางความคิด” เป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เป็นการผสมผสานระหว่างกระบวนการคิดและวิธีในการสื่อสารอย่างแยบยล ผู้ที่สามารถทำความเข้าใจและฝึกฝนกระบวนการดังกล่าวได้อย่างเป็นธรรมชาติ จะสามารถคอบคุมสถานการณ์ได้ตามที่คาดหวัง

ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผมไหมว่าช่วงนี้ประเทศเรามีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง มีการออกนโยบาย มาตรการ กฎ ระเบียบ อะไรใหม่ๆมาบังคับใช้จำนวนมากพอสมควร เช่น เรื่องการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัย การห้ามคนนั่งในแค๊ปและกระบะหลังรถปิคอัพ การซื้อยุทโธปกรณ์ทดแทนของเดิม และอีกหลายเรื่องที่มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมแบบประชาธิปไตย ที่เราถือว่าทุกคนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน มีสิทธิและหน้าที่ของแต่ละคนในฐานะพลเมืองของประเทศนี้เท่าเทียมกัน  ทุกคนจึงสามารถมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างอิสระภายใต้ความรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของตนตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้

ในสังคมที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า ความเห็นต่างทางความคิด ไม่ใช่เรื่องผิด เราควรรับฟังคนที่เห็นต่างจากเรา ซึ่งอาจทำให้เราได้เห็นมุมมองอื่นที่เราอาจมองข้ามไป ผมฟังประโยคเหล่านี้ที่ครูบาอาจารย์หรือผู้ใหญ่พร่ำพูดพร่ำสอนมาหลายสิบปี จนเชื่อว่าเราทุกคนก็รู้และคิดเหมือนกันว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมาก

แต่น่าแปลกใจไหมครับ ที่ทุกวันนี้เราเห็นคนส่วนมากไม่ได้นำความเชื่อเหล่านั้นมาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันเท่าที่ควร เราจึงพบเห็นคนจำนวนมากยังคงไม่สามารถรับมือกับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ดีเท่าที่ควรและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เราไม่สามารถผลิตชุดความคิดที่ดีกว่าเดิมได้จากการพูดคุยกันในแต่ละครั้ง เราไม่ได้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์หรือมุมมอง ความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยให้นโยบาย กฎ กติกา หรือแนวทางของเราพัฒนาดีขึ้นกว่าตอนเริ่มต้น ในเวลาเดียวกันเรากลับได้สร้างความรู้สึกลบทางใจเกิดขึ้นระหว่างกัน เกิดอคติ ความรู้สึกไม่ชอบขี้หน้า หมันไส้ และเริ่มผลักไสคนที่เห็นต่างให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม  กันเขาออกนอกวงจรความไว้วางใจ และจัดคนเหล่านั้นไว้ในบัญชีรายชื่อของศัตรูคู่อาฆาตที่ไม่สามารถอยู่ร่วมโลกเดียวกันได้  ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นความสูญเปล่าของพรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานมาให้กับมนุษย์นั่นคือสติปัญญา และ การละทิ้งคุณค่าของความแตกต่างอันสวยงาม

ธรรมชาติที่เกิดขึ้น

ความเห็นต่างทางความคิดเกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกวันในชีวิตของเรา ในชีวิตประจำวันกับเรื่องใกล้ตัว เช่น คู่รักที่ตกลงกันไม่ได้ว่าปีนี้จะใช้วันลาพักร้อนของทั้งคู่เพื่อไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือ เกาะมัลดีฟส์ หรือ พ่อแม่ที่ตกลงกันไม่ได้สักทีว่าจะให้ลูกเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน หรือ ส่งไปอยู่กับปู่ย่าเพื่อเรียนโรงเรียนมีชื่อเสียงในกรุงเทพ แม้กระทั่ง การโต้เถียงกับ Taxi เรื่องการเลือกเส้นทางกลับบ้านของเราแท้ๆ บางครั้งท่านอาจจะต้องเจอกับเพื่อนบ้านในคอนโดที่คิดต่างจากมาตรฐานทางจริยธรรมของปกติคนโดยทั่วไป เพราะตัวเองเชื่อว่าเสียค่าส่วนกลางแล้วจะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องเกรงใจคนอื่น เช่น ทิ้งขยะไม่เป็นที่ จอดรถเกินสิทธ์ ใช้อุปกรณ์ฟิตเนสอย่างไม่ถนอม เป็นต้น

นี่ยังไม่นับความเห็นต่างที่เราต้องเผชิญหน้ากับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่ทำงาน การโต้แย้งกับหัวหน้าเรื่องผลประเมินการทำงานของเรา การเสนอความคิดเห็นต่างที่ขัดแย้งกับแนวทางที่ทีมงานเตรียมมา การเจรจากับ Supplier เรื่องคุณภาพของวัตถุดิบที่ต่างออกไปจากที่ตกลงกันไว้ นั่นแปลว่าทั้งท่านและผมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความเห็นที่แตกต่างที่ถาโถมเข้าใส่เราจำนวนมากในแต่ละวันได้เลย เพระฉะนั้นเมื่อเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางที่ดีที่สุด คือ การเผชิญหน้าและหาวิธีการรับมือและจัดการกับความเห็นต่างที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด อย่าปล่อยให้อารมณ์ โทสะ อคติมาเป็นกำแพงกั้นกลางระหว่างเราและคนอื่นๆ

คำถามที่น่าถามมากที่สุด คือ แล้วเรามีวิธีการรับมือหรือจัดการความเห็นต่างๆได้อย่างไร คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมพยายามถามตัวเองอยู่เสมอ เวลาที่ต้องพูดคุยกับคนที่เห็นต่างจากตัวเรา และหลังจากใช้เวลาหลายปีเพื่อคิดทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ผมพบว่าการรับมือกับความเห็นต่างไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะทำได้ ขอเพียงให้ท่านผู้อ่านลองนำแนวทาง 5 ประการง่านๆ นี้ไปปรับใช้ ผมเชื่อว่าการสนทนาของท่านกับคนที่เห็นต่างจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

5 ขั้นตอนรับมือ ความเห็นต่างทางความคิด

ขอร้องให้เขาอธิบายที่มาของความเห็นต่างทางความคิด

เมื่อเราแสดงความคิดเห็นอะไรออกไป แล้วปรากฎว่ามีคนอื่นที่แสดงความคิดเห็นที่สวนทางกับเราออกมา คนส่วนมากเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์เหล่านั้นจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เพราะตีความไปเองโดยอัตโนมัติว่าใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ต้องเกิดจากเขาไม่ชอบเราเป็นการส่วนตัวแน่ๆ เขาต้องมีอคติกับเราแน่ๆ เราตัดสินเขาแล้วผลักเขาไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามโดยที่เรายังไม่รู้ยังไม่เข้าใจเลยว่าที่มาของความคิดเห็นที่แตกต่างนั้น เกิดจากอะไรกันแน่  อะไรทำให้เขาคิดไม่เหมือนเรา ข้อมูล พื้นความรู้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือกระบวนการคิดผิดพลาดบางอย่าง

การที่เราไม่เข้าใจที่มาของความเห็นที่แตกต่างเหล่านั้น ทำให้เราไม่เข้าใจเขาดีพอและซ้ำร้ายเรากลับใส่แว่นตาที่บิดเบี้ยว เต็มไปด้วยอคติในการตัดสินเขา   แน่นอนที่เมื่อเราคิดว่าเขามาร้าย เราเลยแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีโต้ตอบเขานั่นก็คือ การแสดงอารมณ์โกรธ ให้รู้ว่าไม่พอใจ ชักสีหน้า และพยายามเอาชนะเขาด้วยการยืนยันความคิดเห็นของตนเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหนือกว่าเขา  เราโต้ตอบกันไปมาแบบนี้จนความสัมพันธ์ย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ

เวลาที่ผมเจอคนโต้แย้งความเห็นของผมเวลาเป็นที่ปรึกษา ผมจะพูดขอให้เขาอธิบายความเห็นของเขาให้ชัดเจนมากขึ้นว่า อะไรทำให้เขาคิดแบบนี้ เขามีข้อมูลอะไร เขาใช้เหตุผลประกอบการตัดสินใจอะไร โดยที่ผมจะยังไม่โต้แย้งหรือตัดสินเขาทันทีว่าข้อมูล ความเชื่อ หรือ กระบวนการคิดของเขาผิดพลาด แต่ผมจะฟังเพื่อเรียนรู้และสังเกตจนเข้าใจกระบวนการคิดเบื้องหลังความเห็นต่างของเขา ผมเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างกันที่ดีที่สุด

จ้องจับถูก ชื่นชม และแสดงความเห็นด้วยในมุมคิดบางอย่างของเขา

เมื่ออีกฝ่ายได้อธิบายความคิดเห็นของเขาอย่างละเอียดแล้ว ผมจะใช้จังหวะนี้เพื่อจ้องจับถูกมุมคิดบางอย่างของเขา พร้อมชื่นชมและกล่าวกับเขาเลยว่าในมุมนี้เราเห็นด้วยกับเขาเพราะอะไร การทำเช่นนี้ทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกับเขา เราไม่ได้มีอคติอะไรกับเขาเป็นการส่วนตัว เพราะถ้าเรามีอคติ เราคงเห็นต่างทุกเรื่องที่เขาอธิบายมา แต่ความเป็นจริงคือ ไม่มีอะไรถูกหรือผิด 100%  ในเรื่องที่เราเห็นไม่ตรงกัน ก็มีบางเรื่องบางมุมที่เราอาจเห็นตรงกัน หรือ มีความใกล้เคียงกันได้ เป็นการเน้นย้ำว่าตัวเราและคำพูดของเรากำลังมุ่งเป้าหมายไปที่สิ่งที่เรากำลังเห็นต่างกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เราเพียงทำตามธรรมชาติของการอยู่ร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ไม่ได้เกิดจากการมีปัญหาส่วนตัวกัน

เป็นเหตุผลทางด้านจิตวิทยา เมื่อเราแสดงความเห็นด้วยในบางมุมของเขา มันได้สร้างเงื่อนไขทางความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นกับเขา ทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา และเขาอยากจะตอบแทนด้วยการปฏิบัติแบบเดียวกับที่เราทำกับเขานั่นคือ เขาจะเริ่มจ้องจับถูกและชื่นชมความคิดบางมุมของเราที่เขาเห็นด้วย ปรากฎการณ์เช่นนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีต่อการพูดคุยกัน เพราะทั้งสองฝ่ายได้เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างของตนเองให้รับฟังคนอื่นมากขึ้น โดยละวางอคติบางประการลงไป

ขออนุญาตเสนอ ความเห็นต่างทางความคิด ในบางมุม

เมื่อเราสังเกตได้ว่าอีกฝ่ายเริ่มมีท่าทีและปฏิกิริยาในเชิงบวกต่อเรามากขึ้น  โดยสังเกตจากภาษากาย เช่น การพงกศรีษะ การตั้งใจฟัง การเอนตัวไปข้างหน้า การยืดตัวขึ้นและการผายมือออก  เมื่อสัญญาณเหล่านี้เกิดขึ้นก็เป็นจังหวะที่ดีที่ท่านสามารถแสดงความเห็นที่แตกต่างของท่านให้เขารับฟังได้บ้างว่าท่านมีมุมคิดอะไร มีเหตุผลความเชื่ออะไรที่แตกต่างจากเขา เมื่อเราสร้างเงื่อนไขทางใจแล้วเขาจะเริ่มทำความเข้าใจกับเหตุผลของเรามากขึ้นเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่เราไม่เคยสร้างเงื่อนไขทางใจเกิดขึ้น

เทคนิคที่สำคัญมากในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างของเราออกไป คือ การเริ่มต้นประโยคพูดด้วยการขออนุญาตเขาในการแสดงความคิดเห็นของเรา ท่านผู้อ่านบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องตลก เรื่องไม่จริงใจ เรื่องเสแสร้ง ทำไมต้องประดิดประดอยคำพูด ทำไมไม่พูดออกไปเลยว่าคิดอะไร ทำไมต้องขออนุญาต  ท่านผู้อ่านครับนี่และที่ผมเรียกว่าเสน่ห์ของการเข้าใจความเป็นมนุษย์

เวลาที่เราแสดงความคิดเห็นที่ตรงข้ามกับเขา ความรู้สึกของเขาเสมือนว่าเรากำลังลุกล้ำความเป็นตัวตนของเขา สิ่งที่เขาภาคภูมิใจมาตลอด เพราะฉะนั้นผมว่าคงเป็นการเหมาะสมหากเราทำการขออนุญาตเข้าไปในพื้นที่แห่งความภาคภูมิใจของเขาก่อน คิดง่ายๆเหมือนการจะเข้าไปในบ้านของใครสักคน ถ้าคุณนัดหมายล่วงหน้า หรือเคาะประตูแล้วรอเจ้าของบ้านออกมาเปิดประตูให้ ท่านก็จะไม่โดนข้อหาบุกรุกเข้าจากเจ้าของบ้าน  และโดยปกติทั่วไปแล้ว เมื่อท่านเอ่ยคำขออนุญาตออกไป คนส่วนมากก็จะบอกว่า “ได้ พูดเลย” นั่นแหละครับถึงเวลาแล้วที่ท่านน่าจะได้แสดงความเห็นของท่านอย่างตรงไปตรงมา

ชิงวิจารณ์เชิงลบในความเห็นของตนเองก่อน

เป็นเรื่องปกติที่เวลาคนเห็นต่างกับท่านอยู่ก่อนแล้ว จะไม่ยอมรับหรือเห็นด้วยกับบางมุมของท่าน เมื่อฟังท่านกำลังอธิบายอะไรบางอย่าง เขาอาจจะเกิดความรู้สึกต่อต้าน ไม่เห็นด้วย ซึ่งนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและมักไม่ยอมรับในความผิดพลาดของตนเอง เพราะเมื่อฟังท่านอธิบาย ให้เหตุผลหรือข้อมูลที่แตกต่างจากที่เขาเคยรับรู้มา ทั้งที่ลึกๆเขาก็เห็นด้วย แต่ศักดิ์ศรีตัวนี้ทำให้เขาไม่ยอมรับและพยายามที่จะสวนกลับความคิดของท่านเพื่อหาข้อบกพร่องบางอย่างของท่านเอามาบรรเทาความรู้สึกต่ำต้อยที่กำลังเกิดขึ้นภายในจิตใจของเขา

ผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการจัดการความเห็นที่แตกต่างมี 2 ทางในการรับมือกับจุดนี้ คือ

1. ยอมให้เขาโจมตีกลับมา แล้วเราก็ทำเพียงน้อมรับคำโจมตีเหล่านั้น และแสดงความเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด โดยใช้คำพูดว่าอาจเป็นเช่นนั้นก็ได้ หรือ    วิธีที่ 2 ที่ผมมักใช้เสมอ คือ ผมจะชิงจังหวะเป็นฝ่ายวิจารณ์ความคิดเห็นของผมก่อนเลยโดยที่ไม่ต้องรอให้เขามาโจมตีผม โดยผมจะพูดว่า “ความคิดของผมอาจจะผิดก็ได้ หรือ ข้อมูลของผมอาจจะคลาดเคลื่อนก็ได้”

ผมพบว่าเมื่อเราชิงวิจารณ์เชิงลบต่อความคิดของเรา มันทำให้คู่สนทนาของเรามองว่าเราเป็นคนที่ซื่อสัตย์และจริงใจต่อตนเอง เป็นคนเปิดเผยกล้าที่จะวิจารณ์ตนเอง เพราะฉะนั้นเขาไม่จำเป็นต้องออกอาวุธมาซ้ำเติมผมอีกแล้ว เพราะผมได้พูดแทนความรู้สึกของเขาไปเรียบร้อยแล้ว ในทางกลับกันเขาจะยิ่งพูดกลับมาว่า เขาไม่ได้คิดขนาดนั้นเลย ความคิดเราไม่ได้ผิดอะไรร้ายแรงขนาดที่เรากำลังวิจารณ์ตัวเองอยู่ นี่แหละครับเสน่ห์ของมนุษย์ที่น่าพิศวงยิ่ง

ขออภัยในความเห็นที่แตกต่างและหวังว่าเขาจะยกโทษให้

ตอนนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนจากฝ่ายตรงข้ามมาเป็นฝ่ายเดียวกันเรียบร้อยแล้ว  เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้เขารู้สึกว่าการที่เราแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากเขา ไม่ได้เกิดจากอคติส่วนตัว และเราไม่มีเจตนาทำร้ายความรู้สึกหรือต้องการรุกล้ำพื้นที่แห่งความภาคภูมิใจของเขา เราควรกล่าวขออภัยเขาอีกครั้งหนึ่ง เพราะบางทีเราเองก็ไม่แน่ใจว่าบางคำพูด ท่าทีบางอย่างของเราที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น ได้ไปสร้างผลกระทบอะไรบางอย่างกับเขาหรือเปล่า เมื่อเราไม่แน่ใจ การกล่าวคำขอโทษเป็นการยืนยันและประทับตราว่าเราห่วงใยความรู้สึกของเขาแม้ว่าเราจะมีความแตกต่างกัน

สรุป

ทักษะที่กล่าวมานี้ท่านสามารถใช้เพื่อสร้างความเข้าใจ ผสานความแตกต่างของการอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศ หรือ ประชาคมโลก ได้เป็นอย่างดี และนี่คือ ทักษะจำเป็นที่โลกในปัจจุบันและอนาคตต้องการเป็นอย่างยิ่ง

ศึกษาเพิ่มเติม

By |2020-11-01T09:33:48+07:00มีนาคม 10th, 2020|Uncategorized, พัฒนาตนเอง|0 Comments

Share it ! แบ่งปันบทความ

วิทยากรและที่ปรึกษาด้านการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ หลักสูตรการฝึกอบรม และนำสัมมนา หลงใหลในสุนัขพันธุ์มิเนียเจอร์ชเนาเซอร์ รักในการทำอาหารและการแบ่งปันมุมมอง ความคิด ประสบการณ์กับบุคคลต่างๆ