วันนี้ผมขออนุญาตเริ่มต้นบทความด้วยคำถามที่ว่า “ถ้าท่านผู้อ่านเป็นเจ้าของธุรกิจและกำลังมองหาพนักงานเข้ามาทำงานร่วมกัน ท่านอยากได้พนักงานที่มีคุณลักษณะพื้นฐานแบบไหนเข้ามาในองค์กรของท่าน” ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านแต่ละคนคงคาดหวังพนักงานที่มีคุณลักษณะ คุณสมบัติแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจของแต่ละท่าน ซึ่งในบทความสั้นๆที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ผมคงไม่มีพื้นที่เพียงพอในการอธิบายได้ครบถ้วนถึงทุกๆลักษณะที่องค์กรต้องการจากพนักงาน ผมเลยจะขอยกตัวอย่างเฉพาะคุณลักษณะพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งผมเชื่อว่าควรมีอยู่ในคนทำงานทุกคนและถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนทำงานเป็นคนทำงานที่ประสบความสำเร็จและมีความเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะในยุคที่คนทำงานต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้พร้อมรับต่อการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยนในอีกปีกว่าข้างหน้า คุณลักษณะเหล่านี้ไม่เพียงแต่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพนักงานในองค์กรของท่าน แต่ยังหมายรวมถึง ผู้บริหารและผู้ประกอบการที่สามารถใช้เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าทุกวันนี้เรายังเป็นคนทำงานที่ Smart อยู่หรือไม่
5 คุณลักษณะพื้นฐานที่จะทำให้ท่านเป็นคนทำงานที่องค์กรต้องการ (Smart Officer) มีดังต่อไปนี้
-
ตระหนักถึงบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง
เมื่อพูดถึงคนทำงานที่ตระหนักถึงบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองเป็นอย่างสูง
ผมมักจะนึกถึงคนขับรถตู้ประจำทางสายหนึ่งชื่อว่า น้าเตี้ย ซึ่งรถตู้ที่แกขับมีหน้าที่หลัก คือ วิ่งรับส่งผู้โดยสารซึ่งส่วนมากเป็นคนทำงาน พนักงาน Office ข้าราชการ และแม่ค้า จากต่างจังหวัดเข้ามาทำธุระในกรุงเทพทุกๆวันตอนเช้ามืด (ตี 4 ) ผมเองก็เป็นหนึ่งในลูกค้าหลักของรถแกตั้งแต่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ นับถึงปัจจุบันนี้ก็หลายสิบปีแล้ว
หลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่ผมและผู้โดยสารทุกคนที่เป็นลูกค้าของน้าเตี้ยรู้สึกชื่นชมน้าเตี้ยมากๆก็คือ น้าเตี้ยไม่เคยแสดงอาการง่วง หงาว หาวนอนให้ผู้โดยสารเห็นเลยแม้ว่าจะต้องขับรถแต่เช้ามืด ทั้งๆที่แกเป็นคนชอบดื่มสุราเป็นชีวิตจิตใจ เอาเป็นว่างานแต่งของเพื่อน งานบวช ขึ้นบ้านใหม่ โกนจุกเด็ก ล้างป่าช้า หรืองานศพ งานไหนงานนั้นถ้าเห็นหน้าน้าเตี้ยไปร่วมงาน รับประกันได้เลยว่าจะต้องเห็นขวดเหล้าแนบกายแกไปด้วยทุกที่ แต่น่าแปลกที่ว่า วันไหนที่แกต้องไปขับรถรับส่งผู้โดยสาร ไม่เคยมีใครได้กลิ่นสุราจากตัวแกเลย
วันหนึ่งเราก็ได้คำตอบว่าทำไม น้าเตี้ยถึงเป็นคนขับรถที่ได้รับคำชมเชยจากลูกค้าทุกคน เมื่อมีสาวรุ่นแรก ไม่ใช่แรกรุ่น โปรดอ่านให้ชัดเจนนะครับ !!! ชื่อ ป้าน้อย แกไม่รู้นึกไงแซวน้าเตี้ยของผมซะดังลั่นรถเลยว่า “ไอ้เตี้ย เมื่อคืนมึงกินเหล้าไปกี่ขวดว่ะ ขับรถซะเร็วเลย มึงจะรีบไป… หรือไง” ตอนนั้นผมยังเด็กมาก นั่งคิดในใจว่า งานงอกแล้ววันนี้ น้าเตี้ยก็ไม่ได้ขับเร็วกว่าปกติสักเท่าไหร่ หรือป้าน้อยแกหงุดหงิดสามีแกมา เลยพาลหาเรื่องคนไปทั่วหล่ะเนี่ย ผมกะว่าจะแกล้งหลับไปจนถึงกรุงเทพเลย ไม่อยากเห็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราทะเลาะกัน เอ้ย ไม่ใช่ ไม่อยากเห็นผู้ใหญ่ในรถตู้ทะเลาะกัน แต่ผิดคาดครับ
น้าเตี้ยไม่ได้โกรธป้าน้อยเลย กลับตอบไปแบบขำๆ ว่า “โธ่ ป้าน้อยนั่งรถผมมากี่ปีแล้ว เคยเห็นผมกินเหล้าก่อนมาขับรถเหรอป้า แม้ว่าผมจะขี้เหล้าเมายา ทำตัวไม่ดีมันก็แค่ชีวิตผม แต่วันที่ผมต้องมาขับรถรับส่งลุง ป้า น้า อา ผมต้องรับผิดชอบชีวิตของทุกคนจะให้ผมทำตัวเหลวไหลได้ยังไงหล่ะ ผมรู้หน้าที่ของผมดี เถ้าแก่จ้างผมมาขับรถเพราะเขาไว้วางใจผม ผมต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ป้าไม่ต้องห่วงหรอก วันไหนต้องขับรถแต่เช้า ผมก็รีบเข้านอนแต่หัวค่ำ ถ้าต้องไปสังสรรค์ก็รีบไปรีบกลับ ไม่โอ้เอ้เพราะตอนเช้ามีงานสำคัญรออยู่ ”
ผมนั่งฟังแกอธิบายไปก็อดนึกชื่นชมแกไม่ได้ ถึงแม้แกจะมีความรู้ไม่สูงนักจบแค่ ป. 4 แต่แกได้แสดงให้ผมเห็นถึงจิตสำนึกของความรับผิดชอบที่รู้จักบทบาท หน้าที่ของตนเอง และคิดเสมอว่า งานที่ตนเองได้รับมอบหมายนั้นเป็นงานที่สำคัญ แกเลยทุ่มเททำมันอย่างเต็มที่ รับผิดชอบให้ดีที่สุด ให้สมกับที่ หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน องค์กรหรือลูกค้าไว้วางใจมอบหมายงานสำคัญชิ้นนี้ให้กับเรา ไม่ใช่ใช้เวลาทำงานมานั่ง Chat Line กับเพื่อน คุยโทรศัพท์เรื่องส่วนตัว เข้า Facebook ดู Youtube นินทาหัวหน้า เม้าท์เพื่อนร่วมงาน อ่านหนังสือพิมพ์ มาทำงานตอนเช้าแบบสลึมสลือ ไม่รู้อดหลับอดนอนมาจากไหน ไม่มีสมาธิในการทำงาน ถ้าทำแบบนี้ก็อาจเรียกได้ว่าคนๆนั้นไม่รับผิดชอบต่อบทบาท หน้าที่ของตนเอง
ทุกวันนี้ผมเลยไม่แปลกใจเลยว่า น้าเตี้ยของผม คนขับรถตัวเล็กๆในวันนั้น ปัจจุบันได้กลายเป็นเจ้าของวินรถตู้สายนั้นไปเรียบร้อยแล้ว
-
มี Drive ในการทำงาน
คนที่ทำงานด้วยความมุ่งมั่น กับคนที่ทำงานไปวันๆดูไม่ยากครับ เราสามารถพิจารณาได้จากความกระตือรือร้นที่แสดงออกในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง พนักงานที่มีเป้าหมายในชีวิตการทำงานจะทุ่มเทเวลา และแรงกายเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน แสวงหาองค์ความรู้ทั้งจากภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ถ้ารู้ว่าที่ไหนเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมดีๆก็เพียรพยายามเข้าไปร่วมสัมมนาให้ได้ ถ้าองค์กรไม่ออกค่าใช้จ่ายให้ก็ออกเอง ซื้อหนังสือดีๆมาอ่านเอง ไม่ต้องรอแค่การอบรมที่องค์กรจัดขึ้น คนกลุ่มนี้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในแต่ละวัน ไม่ได้ใช้ชีวิตการทำงานให้หมดไปวันแต่ไม่ได้อะไรเลย แต่จะจดจ่อกับการแสวงหาวิธีที่จะนำมาช่วยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณภาพดีขึ้น ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น ช่วยองค์กรในการคิด ไม่ใช่เพียงการรอรับคำสั่งจากหัวหน้าและทำให้เสร็จๆไป โดยไม่ใส่ใจต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
ผมได้พบเจอผู้บริหารในองค์กรต่างๆเป็นจำนวนมาก คนหนึ่งที่ผมประทับใจในการทำงานคือ พี่ตุ้ม ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กธุรกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีหน้าที่ในการพัฒนาพนักงานในเขต South East Asia ของบริษัทนี้ทั้งหมด พี่ตุ้มเป็นคนที่มี Drive ในการทำงานนับตั้งแต่วันแรกที่ผมรู้จักจนกระทั่ง เกือบ 8 ปีที่ผ่านมา พี่ตุ้มยังคงทุ่มเททำงานอย่างกระตือรือร้น มีความสุขเมื่อเห็นงานที่รับผิดชอบอยู่มีความก้าวหน้า เห็นลูกน้องที่ตัวเองสอนงานมาได้เจริญเติบโตในหน้าที่การงาน พี่ตุ้มเชื่อเสมอว่าคนเอเชียมีความสามารถไม่แพ้ชาวตะวันตกหรือฝรั่งหัวทองคนไหน เป้าหมายของพี่ตุ้มคือจะพิสูจน์ให้เห็นว่าหากคนในภูมิภาคแถบนี้ได้รับการฝึกอบรมที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ ย่อมสามารถทำให้เกิดผลงานที่ดีได้อย่างน่าอัศจรรย์
ทุกๆครั้งที่ผมได้มีโอกาสทานข้าวร่วมกันกับพี่ตุ้ม ผมจึงได้รับฟังเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานจากพี่เขาเสมอ พี่ตุ้มไม่เคยหยุดนิ่งในการหาคำตอบว่าอะไรที่จะช่วยพัฒนาทักษะและการทำงานของตนเองและทีมงาน ทั้งๆที่ผ่านการอบรมมาแล้วทั่วโลก เป็นวิทยากรไปบรรยายต่างประเทศ แต่พี่ตุ้มยังคงอ่านหนังสืออยู่ทุกวัน ไปเข้าอบรมเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆหรือเพื่อทำให้มั่นใจว่าความรู้ที่มีไม่ล้าสมัยเกินไป
คนที่มี Drive ในการทำงานจะไม่กลัวกับการเปลี่ยนแปลง ไม่กลัวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต แต่จะเพียรพยายามที่จะไปถึงจุดหมายที่ตนเองตั้งไว้ ไม่ล้มเลิก หรือย่อท้อต่อปัญหาที่เกิดขึ้น รู้อยู่เสมอว่า “อุปสรรค คือ การเรียนรู้” ยิ่งเจออุปสรรคยิ่งได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ละวันของการทำงาน คือ ความกระตือรือร้น ความเต็มใจ ความสุข ความท้าทาย เพราะรู้ตัวอยู่เสมอว่าทำไปเพื่ออะไร ชีวิตต้องการอะไร และเห็นภาพชัดเจนว่าตนเองจะมีความสุขเพียงใดเมื่อได้รับสิ่งนั้นมาเป็นรางวัลของความทุ่มเท
-
เตรียมพร้อมก่อนเริ่มต้นเสมอ
ถ้ามีใครสักคนถามผมว่า เรื่องแรกที่เขาควรจะสอนให้ลูกน้องทำ คือ เรื่องอะไร ผมคงตอบได้อย่างทันทีเลยว่า ต้องสอนให้น้องๆพนักงานของเราตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มต้นทำงานทุกครั้ง การเตรียมความพร้อมที่ดีช่วยลดความเสี่ยงในการทำงาน ลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างทำงาน ช่วยให้อุปสรรคในการทำงานลดลง โอกาสที่ผลงานจะออกมาดีก็มีมากขึ้น เหมือนกับนักกีฬาที่ต้องมีการฝึกซ้อม เตรียมสภาพร่างกายให้มีความฟิต แข็งแรงก่อนลงแข่งขัน ต้องวางแผน ศึกษาวิธีการเล่นของคู่แข่ง นักกีฬาที่มีการเตรียมพร้อมที่ดีย่อมมีโอกาสชนะมากยิ่งขึ้น
ในส่วนคนทำงานเองก็เช่นเดียวกันกับนักกีฬา ผมจะสอนน้องๆในทีมงานที่ผมดูแลอยู่เสมอว่า ก่อนที่จะเลิกงานในแต่ละวัน ผมปรารถนาให้น้องทุกคนต้องมีการทำสิ่งที่เรียกว่า Make a List หรือ To Do List มาให้ผมดูก่อนกลับบ้าน นั่นคือ ผมควรได้เห็นว่าน้องแต่ละคนมีแผนการทำงานอะไรบ้างในวันพรุ่งนี้ มีอุปกรณ์อะไรที่เราต้องเตรียมพร้อมก่อนเริ่มต้นทำงาน มีใครที่เราต้องประสานงานด้วยหรือไม่ มีเอกสารที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง ยังมีข้อมูลที่จำเป็นต้องหาเพิ่มเติมก่อนเข้าประชุมหรือไม่ รายงานที่เราต้องอ่านก่อนนำเสนองานอ่านครบถ้วน เข้าใจดีหรือยัง ยิ่งเตรียมพร้อมมากเท่าไหร่ โอกาสผิดพลาดก็ยิ่งลดลงมากเท่านั้น
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ พนักงานของผมซึ่งเมื่อก่อนไม่ค่อยเตรียมความพร้อมก่อนทำงาน มีวิธีการทำงานที่เรียกว่าเอาแต่มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คอยแต่มานั่งจัดเอกสารก่อนประชุมเริ่มไม่กี่นาที เวลาเข้าประชุมก็มั่วๆข้อมูลไปเรื่อยๆเพราะไม่ได้เตรียมตัวศึกษาข้อมูลในรายงานก่อนเข้าประชุมที่เคยส่งให้ ทำให้มักหลงลืมเรื่องบางเรื่องที่สำคัญไป การทำงานก็ไม่สมบูรณ์ เอกสารบางอย่างก็ทำมาแบบลวกๆ ผิดๆถูกๆ ทุกวันนี้ข้อผิดพลาดเหล่านั้นลดลงมาก จากงานที่เคยดูเหมือนจะยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบก็รู้สึกว่าจะดูเรียบร้อยมากขึ้น มีการเตรียมพร้อมก่อนเข้าประชุม ไม่ต้องมาเร่งๆรีบๆแบบสมัยก่อน ผลงานที่ออกมาก็ดีขึ้นเป็นลำดับ
-
แยกแยะและจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆได้
ผมเชื่อว่าถ้าท่านเป็นผู้บริหาร หรือ เป็นหัวหน้าคน ท่านต้องเคยได้ยินลูกน้องบ่นให้ฟังอยู่เรื่อยๆว่า งานเยอะ ทำงานไม่ทัน คนทำงานไม่พอ ต้องทำงานจนดึกดื่น ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ไม่มีเวลาออกกำลังกาย เครียด อ้วน บลา ๆๆๆ และอีกมากมาย หรือท่านเองก็อาจเคยบ่นแบบนั้นเหมือนกัน จริงๆแล้ว สาเหตุที่ทำให้เราต้องจมปลักกับงานจนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น เป็นเพราะ เรามีงานเยอะจริงๆ ขาดคนจริงๆ หรือ มีสาเหตุที่สำคัญอื่นๆอีกหรือไม่
ในฐานะที่เป็นหัวหน้าเหมือนกัน ผมเองเคยตั้งข้อสังเกตว่า โอ้โห … ทำไมหนอพนักงานในบริษัทของเราและบริษัทต่างๆที่เราเข้าไปร่วมทำงานด้วย เจอปัญหางานเยอะเหมือนๆกันเลยนะ อะไรที่ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนที่น่าสงสารขนาดนี้ ต้องทำงานที่มีปริมาณเยอะแยะมากมายในแต่ละวัน ต้องทุ่มเทแรงกาย แรงใจเพื่อองค์กรขนาดนี้ ยอมเสียสละสุขภาพส่วนตัว บางคนทำงานจนหลังเสีย สายตาสั้น ทิ้งครอบครัวมาทำงานเสาร์- อาทิตย์ ไม่มีเวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเพื่อเอาเวลามานั่งทำงานที่(พวกเขาเชื่อว่า)มากมายก่ายกอง
ผมไม่เถียงครับว่าบางครั้ง บางองค์กร บางตำแหน่งงานก็มีปริมาณงานที่เยอะจริงๆ คนทำงานไม่พอจริงๆ อันนี้พอฟังได้ครับ แต่เกือบ 80 % ขององค์กรเท่าที่ผมเจอ งานไม่ได้เยอะมากมายขนาดที่ทำให้ชีวิตด้านอื่นๆของท่านต้องสูญเสียไปอย่างที่เป็นมา ปัญหาหลักที่เมื่อเราเข้าไปเป็นที่ปรึกษาและค้นหาสาเหตุ เราพบว่า พนักงานส่วนมากแยกแยะไม่ออกว่า
“งานไหนต้องทำ / งานไหนไม่ต้องทำ / งานไหนรอได้ / งานไหนให้คนอื่นทำได้ / งานไหนต้องคุณภาพดีเยี่ยม / งานไหนแค่ทำให้เสร็จๆ”
คนทำงานที่ประสบความสำเร็จจะไม่ทำทุกๆอย่างที่เข้ามาในชีวิต จะไม่พยายามเอาตัวเองไปยุ่งวุ่นวายกับเรื่องของคนอื่นมากนัก เพราะมันจะทำให้ชีวิตคุณยุ่งเหยิงมาก พวกเขาจะมีเป้าหมาย และพิจารณาว่าอะไรสำคัญ ไม่สำคัญ อะไรเร่งด่วน ไม่เร่งด่วน แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาวางแผนเพื่อจัดลำดับความสำคัญว่าควรลงมือทำงานอะไรก่อนหลัง คุณภาพที่ต้องการในแต่ละงานก็ไม่เท่ากัน งานบางงานต้องให้ความสนใจ ต้องละเอียด รอบคอบ ต้องศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน เช่น การเตรียมข้อมูลเพื่อเข้าประชุมกับลูกค้ารายสำคัญ ซึ่งถ้าสำเร็จจะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และธุรกิจจะมีความมั่นคงแข็งแกร่งมากขึ้น งานแบบนี้ต้องการความเอาใจใส่อย่างสูง ต้องการคุณภาพที่ดีที่สุด แต่งานบางงานเช่น สิ้นเดือนนี้หัวหน้าอยากจะเลี้ยงข้าวพนักงานในฝ่ายสักมื้อ เลยให้เราไปหาข้อมูลร้านอาหารหรูๆในกรุงเทพและปริมณฑลมาให้หน่อยสิจะได้เอามาเปรียบเทียบกันว่าจะไปสังสรรค์กันที่ไหนดี
บางท่านเห็นผมยกตัวอย่างก็คงคิดว่า ผมเขียนตัวอย่างสุดโต่งไปหรือเปล่า เอาการหาข้อมูลเพื่อเตรียมประชุมกับลูกค้ารายใหญ่ไปเปรียบเทียบกับการหาข้อมูลร้านกินข้าว ใครมันจะบ้าแยกแยะไม่ออกว่าอะไรควรทำก่อน อะไรควรทำทีหลัง แต่ท่านผู้อ่านเชื่อผมเถอะครับ ผมเคยเจอบางคน (จริงๆก็หลายคน)แยกแยะไม่ออกว่าอะไรสำคัญไม่สำคัญ หรือบางคนก็ไม่เคยเอาความสำคัญหรือเร่งด่วนมาเป็นปัจจัยในการพิจาณาแยกแยะว่าควรทำสิ่งนั้นหรือไม่
พวกเขาเหล่านั้นกลับใช้แค่ “ความชอบ” หรือ “ความง่าย” เป็นตัวตัดสิน คือ ถ้าฉันชอบทำอะไร หรือ อะไรที่ทำง่ายๆ ไม่ต้องคิดเยอะ ฉันก็จะทำสิ่งนั้นก่อนอย่างอื่นๆ โดยไม่ได้คำนึงว่าสิ่งนั้นสำคัญหรือไม่สำคัญต่อชีวิตของฉัน ต่ออนาคตการทำงานของฉัน ฉันอยากไปกินร้านอาหารหรูที่เจ้านายนานๆอยากจะเลี้ยงสักที ฉันก็จะรีบหาข้อมูลเรื่องนี้ก่อน เดี๋ยวเจ้านายเปลี่ยนใจ ฟังๆดูไม่น่าเชื่อครับ แต่ เกิดขึ้นจริงในหลาย Office
เมื่อคนทำงานไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของงานแต่ละงานได้ จึงต้องทำทุกๆอย่างที่เข้ามา เมื่อเวลาผ่านไปก็จะพบว่าพอสิ้นเดือน หรือ สิ้นปีพวกเขาเหล่านี้กลับไม่ค่อยมีผลงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเลย มีแต่งานที่เป็นงานประจำที่ทำไปเรื่อยๆ ไม่มีงานไหนเลยที่จะบอกได้ว่าคนๆนี้มีประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น สร้างงานที่มีคุณภาพมากขึ้น ให้บริการลูกค้าที่ดีขึ้น สัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงานที่ดีขึ้น หรืออะไรก็ตามที่พิสูจน์ว่าพวกเขา พวกเราเหมาะสมกับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี
ถ้าเป็นไปได้อยากให้ท่านผู้อ่านลองหาหนังสือเรื่อง Effective Time Management : การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ของ อ.ยงยุทธ พีรพงศ์พิพัฒน์ มาลองอ่านเพิ่มเติมดูนะครับ ท่านจะได้แง่คิด มุมมองใหม่ๆ และเทคนิคในการบริหารเวลาและจัดลำดับความสำคัญของการทำงานมาประยุกต์ใช้อย่างง่ายๆครับ