9 ปฏิกิริยาเมื่อเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ตอนที่ 4

9 ปฏิกิริยาเมื่อเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ตอนที่ 4

fer1

จากลักษณะทั้ง 9 ที่เราพบเจออยู่เสมอในผู้บริหารและพนักงานขององค์กรต่างๆจะเห็นได้ว่า องค์กรที่มีโอกาสปรับตัวได้เร็ว ตามรูปที่ 1 องค์กรนั้นๆควรมีบุคลากรแบบที่ 1 – 3 เป็นส่วนใหญ่ คือ องค์กรที่ประกอบด้วยคนที่มีวิสัยทัศน์แบบนกอินทรี สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและพร้อมที่จะกระตุ้นเตือนให้คนในองค์กรเตรียมพร้อมรับมือ

มีกลุ่มคนที่มีลักษณะแบบ นกฮูก ช่วยเป็นมันสมองในการคิดวิเคราะห์ แสวงหาความรู้ สร้างกลยุทธ์ เสนอแนะแผนการทำงานจนกลั่นกรองมาเป็นแนวปฏิบัติที่สามารถนำมาปรับใช้ภายในองค์กร และมีกลุ่มคนที่มีลักษณะของเสือชีต้า ที่พร้อมจะกระโจนเข้าสู่ การเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะทดลอง ปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆรวมถึงเป็นคนที่จะนำแนวทางการทำงานใหม่ๆมาปฏิบัติใช้จริง และถ้าพนักงานส่วนที่เหลือจะมีลักษณะแบบที่ 4 คือ หมีใหญ่อยู่บ้างก็ถือว่าเป็นเรื่องที่พอยอมรับได้ เพราะโดยปกติของพนักงานทั่วๆไปในองค์กรส่วนมากก็เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขอเพียงให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นก่อนเท่านั้นเอง แล้วพวกเขาเหล่านั้นก็พร้อมและยินดีที่จะก้าวไปกับองค์กร

   

                                                             รูปที่ 1                                                                                                                                                                                           รูปที่ 2

แต่จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง หากคนส่วนใหญ่ในองค์กรมีลักษณะและพฤติกรรมแบบที่ 5 – 9 ตามรูปที่ 2 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นงานหนักของผู้บริหารหรือนักพัฒนาองค์กรในการขยับเขยื้อนให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะองค์กรนั้นจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งในเกือบทุกๆการตัดสินใจ ในขณะที่คนกลุ่มผู้บริหารหัวก้าวหน้าและพนักงานรุ่นใหม่อยากเห็น การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันต่อการแข่งขัน คนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น ผู้บริหารและพนักงานรุ่นเก่าๆ อยากให้การเปลี่ยนแปลงเกิดเกิดขึ้นน้อยที่สุด เมื่อสองกลุ่มต้องมาทำงานร่วมกัน ความโกลาหล ข่าวลือ ความน้อยอกน้อยใจ คำตำหนิ การต่อต้าน การประท้วงและการตีรวนเป็นระยะๆ จึงเกิดขึ้น หากผู้บริหารองค์กรขาดความเชี่ยวชาญในการจัดการกับปัญหา ไม่รู้วิธีบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ที่ดีเพียงพอแล้ว

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นย่อมนำมาซึ่งความแตกแยก แบ่งฝักฝ่าย และรอยร้าวที่จะบาดลึกภายในองค์กร จนหลายๆคนที่อยู่กับองค์กรมาเป็น 30 – 40 ปี ต้องจากองค์กรไปอย่างเจ็บปวด หรือ องค์กรต้องสูญเสียคนที่มีศักยภาพรุ่นใหม่ๆไปเพราะเขาก็เกิดความท้อแท้ เนื่องจากไม่เห็นอนาคตในการอยู่กับองค์กรที่ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยแค่ไหน

ผมเชื่อว่าเมื่อท่านผู้อ่านได้ติดตามผมมาจนถึงบรรทัดนี้ คงมีหน้าตาของผู้บริหารหรือพนักงานคนใดคนหนึ่งในองค์กรของท่านปรากฎขึ้นอยู่ในใจแล้ว ท่านเชื่อไหมว่าหากเมื่อใดก็ตามที่มีคนภายนอกถามท่านว่าในองค์กรของท่าน ใครมีลักษณะแบบนกอินทรี นกฮูก หรือเสือชีต้า ถ้าท่านนึกชื่อคนเหล่านั้นออกได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ผมเชื่อว่าองค์กรของท่านมีความหวังในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพราะมันแสดงว่าท่านยังมีบุคลากรที่สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้านึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก แสดงว่าองค์กรของท่านเริ่มมีปัญหาอะไรบางอย่างกำลังก่อตัวขึ้นอย่าง น่าสะพรึงกลัว

และที่น่าเป็นห่วงมากๆ ก็คือ หากถามรายชื่อคนที่มีลักษณะแบบ กระต่าย เต่า งูจงอาง หมาป่า และ ฟอสซิล แล้ว ถ้าท่านพูดขึ้นมาว่า โอ้… นึกได้มากมายเหลือเกิน นั่นแสดงว่าองค์กรของท่านอยู่ในอาการโคม่า น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง …

โดย นพพล นพรัตน์
Founder of HIGH
noppol.noparat@gmail.com

By |2020-03-14T18:14:05+07:00มีนาคม 14th, 2020|Uncategorized|0 Comments

Share it ! แบ่งปันบทความ

วิทยากรและที่ปรึกษาด้านการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ หลักสูตรการฝึกอบรม และนำสัมมนา หลงใหลในสุนัขพันธุ์มิเนียเจอร์ชเนาเซอร์ รักในการทำอาหารและการแบ่งปันมุมมอง ความคิด ประสบการณ์กับบุคคลต่างๆ