สารบัญ
ลักษณะที่ 6 : เต่า (Turtle)
เต่าเป็นสัตว์ที่อายุยืน บางตัวมีอายุเป็น 100 ปี พวกเขาอยู่บนโลกใบนี้มานานมาก หลายคนเชื่อว่าเต่าเกิดขึ้นในยุคเดียวกับไดโนเสาร์ เมื่อพูดถึงเต่า หลายคนจึงนึกถึงความเชื่องช้า ความโบราณ อนุรักษ์นิยม การไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะคืบคลานจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง จนมีคำกล่าวเชิงเปรียบเทียบว่า “พวกไดโนเสาร์ เต่าล้านปี”
ผู้บริหารหรือพนักงานที่มีลักษณะแบบเต่า จึงไม่เข้าใจว่าทำไมองค์กรต้องเปลี่ยนแปลง เพราะไม่ค่อยรับรู้ข้อมูลความเป็นไปของโลกใบนี้ว่าได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดจากอดีต ทำให้ยังคงยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ความสะดวกสบายที่เคยได้รับ ความรู้สึกปลอดภัย ความสบายใจที่เคยมีมาในอดีต คนลักษณะแบบนี้จะขังตัวเองอยู่ใน Comfort Zone ทำให้ขี้เกียจ ขาดความกระตือรือร้น ขาดความกล้า คิดว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงก็อยู่ได้แล้ว ไม่ได้หวังจะก้าวหน้าอะไรมากมาย แค่ที่ได้อยู่ทุกวันนี้ก็ดีมากแล้ว ไม่เข้าใจว่าองค์กรจะเปลี่ยนแปลงทำไมให้ยุ่งยาก สิ้นเปลือง แต่ถ้าสุดท้ายแล้วองค์กรต้องการให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงจริงๆก็ไม่ได้แสดงท่าทีต่อต้าน คัดค้าน โต้เถียงอย่างรุนแรงออกมา คงมีเพียงหดตัวเข้าไปอยู่เงียบๆ ในกลุ่มคนที่รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกับเขา ระบายความรู้สึกให้กันและกันฟัง หรือถ้าองค์กรจะให้ทำอะไรก็จะทำไปแบบเรื่อยๆ ไม่ได้จริงจังอะไรมากมาย ไม่เต็มที่ ต้องรอให้ถึงวินาทีสุดท้าย หรือเป็นกลุ่มสุดท้ายขององค์กรถึงจะยอมขยับ หากผู้บริหารต้องการให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงต้องคอยกระตุ้นอยู่เสมอ เรียกพบ โน้มน้าวจูงใจอย่างสูง ต้องหาวิธีการสร้างกิจกรรมเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม และต้องให้เวลาในการปรับเปลี่ยนวิธีความคิดสำหรับคนกลุ่มนี้พอสมควรทีเดียว ที่ผ่านมาเรามักมีโอกาสพบคนลักษณะนี้ได้ในองค์กรประเภทรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก
ลักษณะที่ 7 : งูจงอาง (King Cobra)
งูจงอาง เป็นงูพิษขนาดใหญ่ที่มีพิษร้ายแรง ถูกจัดว่าเป็นงูพิษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีความดุร้าย เมื่อถูกรุกรานจากศัตรูจะชูคอขึ้นและแผ่แม่เบี้ยออกเช่นเดียวกับงูเห่า (Cobra) เพื่อข่มขู่ศัตรูว่าอย่าเข้าใกล้มากกว่านี้ มิฉะนั้นจะถูกจู่โจมและกัดให้จมเขี้ยวเป็นแน่แท้ แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้รุกล้ำอาณาเขต หรือ เข้ามาทำอันตรายใดๆ งูจงอางก็จะนอนขดอย่างสงบนิ่ง
ผู้บริหารหรือพนักงานที่มีลักษณะแบบ งูจงอาง เป็นกลุ่มคนที่มีความคิดเป็นของตนเอง เชื่อมั่นในข้อมูล เหตุผลและวิธีการคิดวิเคราะห์ของตนเอง มีความเชื่อในค่านิยม ปรัชญาหรือแนวคิดอะไรบางอย่างที่ชัดเจนมาก ถ้าองค์กรเปลี่ยนแปลงและคนกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คนที่มีลักษณะแบบงูจงอาง จะลุกขึ้นมาต่อต้าน เรียกร้องอย่างเต็มที่ แสดงตัวอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย ผ่านการเป็นแกนนำในการประท้วง นัดชุมนุม ปราศรัย เพื่อปลุกระดมให้คนอื่นลุกขึ้นมาเสนอข้อเรียกร้อง และความคิดเห็นอย่างชัดเจนว่าต้องการอะไร แต่ถ้าคนกลุ่มนี้มองแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้รุกล้ำอาณาเขตปกครองของตนเอง หรือ กระทบคนภายใต้การดูแลของตนเอง ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเรื่องนั้นๆ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคิดออกว่าเราจะเจอคนลักษณะแบบนี้ได้ที่ใด
ลักษณะที่ 8 : สุนัขจิ้งจอก (Fox)
สุนัขจิ้งจอก เป็นสัตว์ที่มนุษย์มักมองว่าเจ้าเล่ห์ เป็นตัวแทนของความไม่ซื่อตรง ไว้วางใจไม่ได้ ถึงขนาดที่ว่า บางประเทศในแถบเอเชียมีความเชื่อเกี่ยวกับการมีอยู่ของปีศาจจิ้งจอก ที่คอยลงมาสร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์อยู่เสมอ โดยเฉพาะปีศาจจิ้งจอกสาว มักจะแปลงกายลงมาเป็นสาวสวยเพื่อหลอกล่อชายหนุ่มให้หลงใหลไปกับความสวยงามที่อยู่เบื้องหน้า จนถูกดูดกลืนพลังชีวิต
ผู้บริหารหรือพนักงานที่มีลักษณะแบบสุนัขจิ้งจอก เมื่อเจอการเปลี่ยนแปลงจะมองและวิเคราะห์ก่อนแล้วว่าอะไรที่ตัวเองได้ประโยชน์ ทำให้ตัวเองดีขึ้นก็จะรู้สึกยินดีมาก แต่ถ้าถามว่าจะให้ออกหน้ามาลงแรง เป็นเจ้าภาพอย่างเต็มที่ เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง กลุ่มนี้จะยินดีรับไหม คำตอบคือ “ไม่” เพราะคิดว่า ตนเองไม่มีความจำเป็นต้องไปลงแรงให้มากมายขนาดนั้น แค่เพียงรอรับประโยชน์ก็เพียงพอแล้ว เพราะถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นดีจริง คนอื่นก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะฉะนั้นคนอื่นก็ควรต้องลงแรงด้วยเช่นกัน และถ้าวิเคราะห์ว่าผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้ช่วยให้ตัวเองดีขึ้น ทำให้ตัวเองเกิดความยากลำบาก เสียประโยชน์ เสียโอกาส คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ออกมาโวยวาย หรือต่อต้านแบบเผชิญหน้า แต่จะแสร้งให้ ความร่วมมือ ทำเพียงแค่ให้ผู้อื่นเห็นและเข้าใจว่าตนเองก็มีส่วนร่วม ที่ทำไปทั้งหมดเป็นการทำเพื่อคนอื่น เพื่อองค์กร ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของตัวเองเลย คนส่วนใหญ่จะได้มองว่าเขาเป็นคนที่เสียสละเพื่อองค์กรอย่างแท้จริง แต่ในความเป็นจริงเรามักพบว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง หรือสนับสนุนการเคลื่อนไหวใดๆก็ตามที่จะเป็นการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กรที่อาจทำให้ตนเองเสียประโยชน์ สาเหตุที่ไม่อยากออกหน้ามาต่อต้าน เรียกร้องโดยตรงด้วยตัวเองเพราะกลัวว่าถ้าพลาดขึ้นมาจะมีผลกระทบต่อตัวเอง จึงพยายามให้คนอื่นออกหน้าแทนอยู่เสมอเมื่อต้องการเรียกร้องใดๆ ถ้านับเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว คนจำนวนนี้มีอยู่ไม่มากนักในแต่ละองค์กร แต่ถ้าองค์กรใดมีคนลักษณะนี้อยู่แม้เพียงไม่กี่คน ท่านเชื่อได้เลยว่าองค์กรนั้นๆจะมีเรื่องวุ่นวายไม่รู้จบทีเดียว เพราะผู้บริหารเองไม่รู้ว่าคนพวกนี้จริงๆแล้วคิดอะไรกันแน่ ทำให้ไม่รู้จะอธิบายหรือโน้มน้าวด้วยวิธีการใด หรือเข้าไปสื่อสารกับใคร ทั้งนี้เพราะไม่รู้ว่าปีศาจจิ้งจอกได้สิงร่างของใครอยู่กันแน่
ลักษณะที่ 9 : ซากดึกดำบรรพ์ (Fossil)
ซากดึกดำบรรพ์ หรือ ที่เราเรียกกันสั้นๆว่า ฟอสซิล คือ ซากที่หลงเหลืออยู่ของพืชและสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในยุคอดีตเป็นแสนเป็นล้านปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันซากเหล่านั้นได้กลายสภาพเป็นหิน เมื่อพูดถึง ฟอสซิล หลายคนจึงนึกถึงภาพของสิ่งที่ตกยุคไปนานมากแล้ว ไม่มีประโยชน์ไปมากกว่าการเก็บไว้เป็นของเก่าคู่พิพิธภัณฑ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ว่าครั้งหนึ่งในโลกใบนี้ ก็มีสิ่งมีชีวิตประเภทนี้อยู่ และสิ่งเหล่านี้เคยมีวิถีการดำรงชีวิตอย่างไร
ผู้บริหารหรือพนักงานที่มีลักษณะแบบซากดึกดำบรรพ์ หรือ ฟอลซิล เป็นลักษณะของคนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แม้ไม่ได้แสดงออกถึงอาการต่อต้านอย่างรุนแรง แต่จะใช้วิธีการไม่สนใจ ไม่แคร์ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ไม่สนใจกับการพัฒนาตนเองใดๆทั้งนั้น ส่งไปอบรมก็เบื่อ ก็เซ็ง โดดอบรม องค์กรพยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของ การเปลี่ยนแปลงก็ไม่สนใจ ดื้อ นิ่ง เฉย ไม่รับรู้ เพราะคิดว่าไม่มีใครหรือสิ่งใดจะมาลงโทษอะไรกับเขาได้ ทำงานแบบอยู่ไปวันๆ เรามักพบเจอพนักงานลักษณะแบบนี้ได้เสมอในหน่วยงานราชการสมัยก่อน และรัฐวิสาหกิจที่ผู้บริหารไม่เอาใจใส่ มีระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ถ้าถามว่าแล้วผู้บริหารจะมีวิธีจัดการอย่างไรกับคนกลุ่มนี้ ผมคงตอบได้เพียงว่า ก็พอมีทางเป็นไปได้ แต่ก็ยากมากครับ ต้องอาศัยแรงกาย แรงใจอย่างสูง ผมคงต้องเขียนอีกหลายบทความในการอธิบายเรื่องนี้ แต่ถ้าจะให้แนะนำเบื้องต้น คงต้องบอกว่า ผู้บริหารอาจต้องหัดสวดมนต์ แผ่เมตตาให้ได้เป็นลำดับแรกครับ
โดย นพพล นพรัตน์
Founder of HIGH
noppol.noparat@gmail.com
อ่านต่อ : 9 ปฏิกิริยาเมื่อเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ตอนที่ 4