9 ปฏิกิริยาเมื่อเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ตอนที่ 2

9 ปฏิกิริยาเมื่อเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ตอนที่ 2

9 ปฏิกิริยาเมื่อเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ตอนที่ 2

ลักษณะที่ 3 : เสือชีต้า (Cheetah)

เสือชีต้า มีรูปร่างที่ปราดเปรียว ว่องไว มีปฏิภาณไหวพริบที่เฉียบแหลม พร้อมที่จะพุ่งทะยานไปข้างหน้า และตะครุบเป้าหมายที่จับจ้องไว้ได้อย่างแม่นยำ เสือชีต้าจัดได้ว่าเป็นสัตว์ที่วิ่งได้เร็วในลำดับต้นๆของโลก อาจถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ลักษณะของเสือชีต้าจึงเปรียบเสมือนผู้บริหารหรือพนักงานที่พร้อมกระโจนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นต้องรอมั่นใจ 100% กลุ่มนี้พร้อมที่จะปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะลองผิดลองถูก มีทัศนคติที่ดีต่อ การเปลี่ยนแปลง เราพบว่าคนที่มีลักษณะแบบนี้ได้ ล้วนเคยมีประสบการณ์ด้านบวกกับการเปลี่ยนแปลง

คือ มีสิ่งดีๆเข้ามา ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง ทำให้รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสที่จะทำให้ชีวิตก้าวหน้า เกิดความท้าทาย น่าตื่นเต้น กล้าที่จะลอง และออกจาก Comfort Zone คนกลุ่มนี้พร้อมที่จะเข้ามามีบทบาทในการโน้มน้าวจิตใจ กระตุ้นพลังฮึกเหิมให้ทีมงาน เพื่อนำพาพวกเขาออกไปเผชิญการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการออกไปสื่อสารและเป็นตัวอย่างให้กับพนักงาน เพราะตนเองได้พิสูจน์มาแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลในการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง
เพิ่มเติม : Comfort Zone คือ สภาวะที่เรารู้สึกปลอดภัย สบายใจ ไม่ต้องทำอะไรก็สามารถอยู่ได้ จนทำให้เราขี้เกียจ ประมาณและไม่เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง

ลักษณะที่ 4 : หมีใหญ่ (Bear)

หมี เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างใหญ่ ทำให้การเคลื่อนไหวไม่ค่อยรวดเร็วว่องไวมากนัก ค่อยๆกินอาหาร ค่อยๆเล็มน้ำผึ้ง แต่บทที่จะรวดเร็ว ว่องไว เช่นตอนจับปลาในแม่น้ำ ก็สามารถปรับตัวทำได้เป็นอย่างดี เด็กหลายๆคนทั่วโลกชื่นชอบตุ๊กตาหมี ด้วยรูปลักษณ์ที่น่ากอด น่ารัก ขนนุ่มๆ น่าอยู่ใกล้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร
ผู้บริหารหรือพนักงานที่มีลักษณะแบบหมีใหญ่ ยังคงเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่องค์กรต้องเปลี่ยนแปลง อาจเนื่องมาจากเคยได้รับข่าวสาร เคยเข้ารับการอบรม เคยได้รับการบอกกล่าว ชี้แจงมาจากหัวหน้า กลุ่มนี้จึงไม่ต่อต้าน หรือคัดค้านการเปลี่ยนแปลง อาจมีแอบบ่นๆบ้างก็เป็นเรื่องปกติ คนกลุ่มนี้อาจมีอาการ “ชะงัก” อยู่บ้างหาก การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือถูกบังคับให้ต้องรีบเปลี่ยนแปลงจนเกินไป เพราะตอนแรกพวกเขายังขาดความมั่นใจ ต้องให้เวลาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักคิดว่าการเปลี่ยนแปลงควรศึกษาให้รอบคอบและทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ หากพวกเขาตัดสินใจว่าจะเอาด้วยแล้วก็จะเต็มที่ ให้ความร่วมมือดี พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของผู้บริหาร และถ้าจะให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลง ผู้บริหารอาจต้องให้เวลาพวกเขา สักพักในการเตรียมใจ ศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ผลดีผลเสียอย่างละเอียด และอาจสร้างความเชื่อมั่นให้พวกเขาโดยการให้ข้อมูลเพิ่มเติม นัดประชุม สื่อสารประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจถึงผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งแนวปฏิบัติ และการสนับสนุนจากองค์กรอย่างเป็นขั้นตอน อย่างเปิดเผย จริงใจ เพื่อช่วยลดความกังวลที่มีอยู่ เราพบว่า คนทำงาน Office ในองค์กรต่างๆส่วนใหญ่มีลักษณะดังกล่าวนี้

ลักษณะที่ 5 : กระต่าย (Rabbit)

กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงกันเป็นอย่างสูงในปัจจุบัน ด้วยรูปร่างที่น่าทะนุถนอม ขนนุ่มๆ ตาเป็นประกาย ว่องไว น่ารัก แต่ท่านเชื่อผมเถอะครับ ถ้าไม่จำเป็นหรือรักเขาอย่างจริงจัง และมีเวลาเพียงพอที่จะดูแลพวกเขา อย่าไปเลี้ยงเลยครับ กระต่ายเป็นสัตว์ที่คนเลี้ยงต้องดูแลใกล้ชิด ถ้าท่านเผลอนิดเดียวจะเกิดการขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว (จนน่าอิจฉา) แต่จะสร้างภาระให้ท่านจนน่าเวียนหัว หลายคนกล่าวว่ากระต่ายขี้ตกใจ ได้ยินเสียงฟ้าผ่าก็ขาดใจตายแล้ว อะไรนิดหน่อยก็ตกใจแล้ว ถึงขนาดมีนิทานเรื่อง “กระต่ายตื่นตูม”ออกมาให้เราได้อ่านกันตอนเด็กๆ
ผู้บริหารหรือพนักงานที่มีลักษณะแบบกระต่าย จะรู้สึกตระหนกและหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง เกิดคำถามมากมายในสมอง ความเครียดขึ้นสูง ปวดหัว ไมเกรนถามหา วิตกกังวล ทั้งที่ยังไม่รู้ข้อมูลอะไรชัดเจน ยังไม่รู้ว่า การเปลี่ยนแปลงจะมีแนวทางอย่างไร เมื่อได้ยินข่าวแว่วๆลอยมา มักจะแสดงอาการออกอย่างเห็นได้ชัดถึงความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น มักตีโพยตีพาย และปฏิเสธไว้ก่อน พวกเขาจะร้องขอความเห็นใจ อยากให้คนอื่นเข้าใจความรู้สึก มีการร้องทุกข์ การบ่น การวิพากษ์ วิจารณ์ มักนำความวิตกกังวลของตนเองไประบายให้เพื่อนคนอื่นๆฟัง โดยไม่เกี่ยงแม้ว่าจะเป็นเพื่อนต่างหน่วยงานก็ตาม นำมาซึ่งข่าวลือต่างๆนานาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากองค์กรใดปล่อยสถานการณ์ของความแตกตื่นนี้ไว้โดยไม่ทำอะไร ย่อมนำมาซึ่งความโกลาหลในที่สุด คนที่เป็นผู้บริหารต้องใช้ความพยายามในการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ให้มาก โดยการนำเสนอข้อมูลให้ชัดเจนที่สุด คอยให้กำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะไม่อยู่ตามลำพัง องค์กรจะสนับสนุนเต็มที่ ผู้บริหารควรให้ความสนใจกับคนกลุ่มนี้ในการให้เวลาเพื่อทำความเข้าใจ เนื่องจากมีข้อดีที่ว่า ถ้าเมื่อพวกเขากลับเข้าสู่ภาวะสงบ ไม่ตื่นตระหนก และเริ่มยอมรับการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องด้วยเริ่มเข้าใจข้อมูลอย่างชัดเจน เริ่มมั่นใจถึงแนวทางในการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะกลายเป็นกระบอกเสียงที่ทรงพลังในการกระจายข่าวให้กับคนกลุ่มต่างๆภายในองค์กรให้รู้ข่าวสารที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง และพวกเขาจะรีบกระโจนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะกลัวจะตกขบวนรถไฟ หลายท่านบอกผมว่าองค์กรที่มีสาวๆจำนวนมาก มักเจอเหตุการณ์นี้อยู่บ่อยๆ ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

By |2020-03-14T17:50:51+07:00มีนาคม 14th, 2020|Uncategorized|0 Comments

Share it ! แบ่งปันบทความ

วิทยากรและที่ปรึกษาด้านการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ หลักสูตรการฝึกอบรม และนำสัมมนา หลงใหลในสุนัขพันธุ์มิเนียเจอร์ชเนาเซอร์ รักในการทำอาหารและการแบ่งปันมุมมอง ความคิด ประสบการณ์กับบุคคลต่างๆ