สนับสนุนทีมงาน
โดย อ.นพพล นพรัตน์ / Ceo, Acrosswork
ถ้าท่านผู้อ่านเป็นหนึ่งในผู้ชื่นชอบกีฬากอล์ฟ ท่านต้องรู้จัก “โมรียาและเอรียา จุฑานุกาล” 2 พี่น้องนักกอล์ฟสมัครเล่นหญิงไทย สร้างชื่อเสียงในวงการกอล์ฟสมัครเล่นหญิงของอเมริกาด้วยการคว้าแชมป์มากมาย “เอรียาสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนักกอล์ฟอายุน้อยที่สุดที่สามารถควอลิฟายเข้าแข่งขันในกอล์ฟแอลพีจีเอทัวร์ ในรายการ “ฮอนด้าแอลพีจีเอไทยแลนด์” เมื่อปี 2550 ด้วยวัย 11 ปี 11 เดือน กับ 2 วัน ลบสถิติเก่าที่มิเชล วี โปรกอล์ฟอเมริกาเชื้อสายเกาหลี เคยทำไว้ 12 ปี 4 เดือนกับ 14 วัน” “โมรียา จุฑานุกาล เป็นนักกอล์ฟหญิงคนแรกที่คว้าแชมป์ในการแข่งขัน “บริติชจูเนียร์โอเพ่นแชมเปียนชิพ” ปี 2551 และ “ดุ๊กออฟยอร์กยังแชมเปียนส์โทรฟี” ปี 2552 ซึ่งรวมนักกอล์ฟเยาวชนทั้งหญิงและชายมือดีจากทั่วโลก”
กว่าจะก้าวมาสู่วันนี้ได้ โมรียาและเอรียา จุฑานุกาลได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่อย่างเต็มที่ เว็บไซต์ hondalpga กล่าวว่าพ่อกับแม่ของพวกเธอจริงจังในการเล่นกอล์ฟของลูกถึงขนาดที่คนเป็นพ่อลงทุนไปเรียนทำไม้กอล์ฟด้วยตนเองถึงต่างประเทศ เป็นเวลาพอสมควรกว่าที่สองพี่น้องจะคว้าแชมป์แรกมาครองได้ กว่าที่จะหาผู้สนับสนุนจากภาคเอกชนได้ครอบครัวต้องลงทุนเป็นเงินจำนวนหลายล้านบาททั้งการจ้างโปรมืออาชีพมาสอน ทั้งเพื่อส่งลูกสาวทั้งสองไปแข่งขันและฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาฝีมือและเลื่อนอันดับในการแข่งขันที่ต่างประเทศ
ผมเชื่อว่าคงไม่ใช่มีแต่เฉพาะพ่อแม่ของสองนักกอล์ฟนี้เท่านั้นที่สนับสนุนลูกของตนให้ประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้มีพ่อแม่จำนวนมากมายที่พร้อมจะทุ่มเท ส่งเสริมให้ลูกประสบความสำเร็จ ลงทุนส่งลูกไปเรียนร้องเพลงกับครูเพลงซึ่งมีชื่อเสียง พาลูกตระเวณประกวดและเข้าแข่งขันในเวทีต่างๆทั่วประเทศที่จัดขึ้นเพื่อหาคนที่เหมาะสมเป็นดาวดวงใหม่ของวงการบันเทิง ต้องไปคอยรับส่งลูกเรียนพิเศษที่สยามตลอดทั้งวัน ทั้งๆที่เป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เมื่อไม่ต้องทำงานแล้ว พ่อแม่ก็ควรอยู่บ้านพักผ่อน หรือบางทีเลิกจากงานช่วงค่ำในวันจันทร์-ศุกร์ ก็ต้องรีบขับรถ ฝ่ารถติดแบบหลายสิบกิโลเมตรเพื่อมานั่งรอลูกเลิกเรียนพิเศษและรับกลับบ้าน บางคนต้องหยุดงานเพื่อมาติวหนังสือให้ลูกเพราะใกล้ถึงวันสอบไล่ประจำปีแล้ว https://bit.ly/3LNUfRt
เฉกเช่นเดียวกับการเป็นพ่อเป็นแม่ ในฐานะผู้นำ ผู้บริหารและหัวหน้างาน เราคงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบและปล่อยให้ทีมงานของเราต้องทำงานไปอย่างยากลำบาก ต้องเผชิญอุปสรรคกันตามลำพัง ผู้นำต้องแสวงหาวิธีการมากมายเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ช่วยสนับสนุนในเรื่องต่างๆเท่าที่จะเป็นไปได้ให้มากที่สุดเพื่อให้การดำเนินงานของทีมงานสำเร็จลุล่วง สิ่งที่สำคัญ คือ ยิ่งเป้าหมายสูงเท่าไหร่ ยิ่งงานยากเท่าไหร่ ยิ่งอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด ยิ่งต้องหาวิธีการสนับสนุนมากขึ้นเท่านั้น
การสนับสนุน ( Support) ทีมงานมีแนวทางหลักอยู่ 6 แนวทางดังต่อไปนี้
- สนับสนุนโดยการจัดทีมงานชั้นเยี่ยมเข้ามาร่วมงาน ผู้นำควรจัดทีมงานที่คอยช่วยเหลือสนับสนุน แบ่งเบาภาระให้กับทีมงานหลักในด้านต่างๆ เช่น ทีมขายควรมีทีมสนับสนุนการขายที่ช่วยลดเรื่องภาระงานด้านเอกสาร และคอยสนับสนุนด้านข้อมูลการขายให้กับทีมขาย ถึงจะช่วยให้ทีมขายมีเวลาไปสร้างผลงานที่ดีเยี่ยมได้ ทีมวอล์เลย์บอลหญิงทีมชายไทยมีทีมโภชนาการดูแลเรื่องอาหารการกิน ทีมวิทยาศาสตร์การกีฬาช่วยพัฒนาความแข็งแกร่งของร่างกาย นำวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลเชิงลึกที่ใช้ในการวิเคราะห์การแข่งขัน มีนักจิตวิทยา และทีมงานอื่นๆที่จำเป็นเข้ามาผนึกกำลังกัน
ผมพบเจอหลายครั้งว่า บางองค์กรพยายามแสวงหาคนเก่ง คนมีความสามารถเข้ามาทำงาน โดยยังมีความเชื่อที่ผิดๆว่า ถ้าได้คนเก่งมาทำงานแล้วก็จะสามารถใช้งานคนนั้นได้ในทุกเรื่อง สามารถให้ทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่ามีอะไรก็โยนให้คนเก่งคนนี้ทำ อาจด้วยเสียดายเงินเดือนจำนวนสูงที่จ่ายให้ เลยคิดว่าต้องใช้ให้คุ้ม หรือ อาจเพราะว่ามองไปที่คนอื่นในบริษัทแล้วไม่เชื่อว่าคนที่เหลือจะทำงานที่มอบหมายให้ได้ การโยนทุกอย่างให้บางคนทำจนเกินลิมิตที่เขารับได้ อาจเป็นที่มาของคำว่า “ใช้คนจนตาย”
ถ้าท่านอยากได้ผลงานที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม ตรงตามกำหนดเวลาที่กำหนด ถ้าเป็นไปได้ลองมองหาทีมงานชั้นยอดที่มีอยู่แล้วภายในองค์กรของท่านเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันกับพวกเขาครับ ช่วยกันคนละไม้คนละมือในบางส่วนที่ทำได้ ช่วยสนับสนุนการทำงานซึ่งกัน หรือ บางทีอาจต้องลองมองหาคนข้างนอกเข้ามาช่วยทำงานเพิ่มเติมอาจเป็นการจ้างเข้ามาเป็นพนักงานประจำเลย หรือ ลองจ้าง Outsource เข้ามาช่วยในบางเรื่องที่จำเป็นหรือในบางสถานการณ์ที่เร่งด่วนก่อนก็ได้ครับ
- การสนับสนุนโดยการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ลดเวลาในการรอคอย และเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงาน โดยเราสามารถใช้หลักการปรับปรุงง่ายๆดังต่อไปนี้ คือ
- ลดหรือเลิกขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นซึ่งจะทำให้การทำงานทั้งกระบวนการใช้เวลาน้อยลงหัวหน้ากับลูกน้องต้องมานั่งคุยกันครับว่าขั้นตอนการทำงานร่วมกันขั้นตอนไหนที่ซ้ำซ้อน ไม่เกิดประโยชน์ต่อการสร้างผลการทำงานอันยอดเยี่ยม
- ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน นั่นคือการหาเจ้าภาพได้ในทุกกรณีที่อาจเกิดปัญหาขึ้น ลดภาวะGrey Area ลดปัญหาการปัดความรับผิดชอบ การที่คนทำงานรู้หน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองอย่างชัดเจน ช่วยให้การประสานงาน การติดตามงานชัดเจนและง่ายขึ้นมาก
- สร้างระบบการทำงานใหม่ที่ช่วยให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบช่วยเหลืออย่างทันถ่วงที ระบบตรวจสอบความถูกต้องระหว่างกันภายในทีม
- มีการกระจายอำนาจให้ระดับต่างๆสามารถตัดสินใจในเรื่องที่กำหนดภายใต้ขอบเขตที่ระบุไว้ได้ด้วยตนเอง ลดปัญคอขวดของงานและระยะเวลาการรอคอยการตัดสินใจจากระดับที่สูงกว่า
- นำระบบ IT เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลที่มีความซับซ้อนจำนวนมาก ลดระบบ Manual และการใช้กระดาษลงเท่าที่เป็นไปได้ ช่วยให้การดึงข้อมูล การประมวลผล เกิดความแม่นยำ รวดเร็ว ส่งผลให้การวางแผน การตัดสินใจอยู่ภายใต้ข้อมูลที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การสนับสนุนด้านเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จำเป็นให้เพียงพอต่อการทำงาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำงาน เป็นเรื่องที่หัวหน้าสามารถช่วยสนับสนุนได้ง่ายที่สุดถ้ามีงบประมาณเพียงพอ แต่เป็นเรื่องน่าแปลกใจพอสมควรที่เรากลับพบว่าองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศหลายแห่งยังไม่สามารถสนับสนุนพนักงานในเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ได้เท่าที่ควร จนพนักงานนำไปพูดล้อเลียนในห้องสัมมนาอยู่บ่อยครั้งว่าองค์กรใหญ่ซะเปล่า มีปริ้นเตอร์เครื่องเดียวทั้งชั้น ต้องให้พนักงานหลายสิบชีวิตแย่งกันใช้งานเหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรีในงานวันเด็ก
บางบริษัทมีคอมพิวเตอร์ที่เก่าจนเกินไป Software ที่ล้าสมัย ระบบอินเตอร์เน็ตที่ช้ามากไม่สามารถรับส่งข้อมูลที่มีปริมาณมากได้ในเวลาที่รวดเร็ว รถส่วนกลางที่สภาพไม่ดีต้องเวียนกันใช้กับหลายฝ่ายงาน บางครั้งก็ไม่สามารถจัดสรรคิวรถให้บริการได้ครบทุกฝ่าย จนพนักงานต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวไปดำเนินภารกิจ หากการทำงานต้องเจอแบบนี้อยู่เรื่อยๆ คนทำงานจะเอากำลังใจที่ไหนมาพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม
- การสนับสนุนด้านข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ใหม่ๆ ที่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านการประชุมกลุ่มย่อย การสัมมนา การฝึกอบรม อีเมล์ข่าวสาร การสนับสนุนด้านนี้จะช่วยให้ทีมงานได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการทำงานให้ทันสมัยอยู่เสมอ เมื่อมีข้อมูลข่าวสารหรือความรู้ใหม่ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องต่อการทำงานเกิดขึ้นก็จะได้นำมาปรับใช้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นการสร้างนิสัยกระตือรือร้น แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องให้กับทีมงาน ไม่ให้กลายเป็นคนที่ทำงานไปวันๆโดยไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัว
หัวหน้าหลายท่านละเลยในการสนับสนุนด้านนี้เพราะคิดว่าคนทำงานต้องติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับงานของตนเองอยู่แล้ว ซึ่งความจริงที่พบก็คือ หลายครั้งที่เราไม่ทราบข่าวสารที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเราก็ตาม เพราะในแต่ละวันเราพาได้ตัวเองจมอยู่ในกองเอกสารและปริมาณงานจำนวนมาก เราจมอยู่กับการประชุมเรื่องที่ไร้สาระ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจากการทำงานที่ไร้ระบบระเบียบที่ชัดเจนเพียงพอ จนไม่มีเวลาเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรที่สำคัญที่จะช่วยให้เราทำงานดีขึ้น หรือบางทียังอุตส่าห์เอางานเข้าไปนั่งทำในห้องสัมมนา โดยหลงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการแสดงออกถึงความทุ่มเทในการทำงาน ทั้งที่พฤติกรรมดังกล่าวเป็นเครื่องสะท้อนการทำงานแบบไม่มีประสิทธิภาพ คนทำงานจำนวนมากละเลยการเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารรอบตัวทำให้กลายเป็นคนที่ตามโลกไม่ทัน แล้วยิ่งถ้าหัวหน้าไม่สนับสนุนเรื่องเหล่านี้ด้วยยิ่งไปกันใหญ่
หัวหน้าสามารถร้องขอไปที่ฝ่ายฝึกอบรมให้ช่วยจัดหาหลักสูตรการฝึกอบรมที่จำเป็นให้กับพนักงานของตน หรือตัวหัวหน้าเองใช้ประสบการณ์ ความรู้ที่ผ่านงานมาอย่างโชกโชนก็สามารถรับหน้าที่เป็นวิทยากรสอนทักษะเทคนิคใหม่ให้ทีมงานด้วยตนเองก็ยังได้ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ไม่จำเป็นต้องฝึกอบรมกันเป็นวันๆแบบที่จ้างวิทยากรภายนอกมาบรรยาย เพียงแค่ในแต่ละอาทิตย์หัวหน้าสละเวลาสักนิด 1-2 ชั่วโมง เรียกทีมงานมาพูดคุยกันสักหน่อยมีอะไรอัพเดตก็เล่าให้กันฟัง แบบนี้พนักงานก็รู้สึกว่าหัวหน้าได้ทุ่มเทพัฒนาพวกเขาอย่างเต็มที่
- การสนับสนุนด้านการประสานความร่วมมือและขอรับการสนับสนุนจากระดับบริหาร ปฏิเสธไม่ได้ว่าพนักงานจำนวนมากไม่ค่อยกล้าเข้าหาผู้บริหารระดับสูง บางครั้งมีเรื่องที่ต้องได้รับการประสานงานหรือขอรับการสนับสนุนจากระดับบริหารก็รู้สึกกลัวไปก่อนล่วงหน้าแล้วว่าผู้บริหารต้องไม่อนุมัติ อาจถูกดุกลับมา ยิ่งถ้าองค์กรไหนผู้บริหารทำตัวเสมือนเจ้าขุนมูลนาย สร้างช่องว่างระหว่างผู้บริหารและลูกน้องอย่างชัดเจน ยิ่งทำให้ลูกน้องไม่กล้าเข้าไปพูดคุยหรือขอให้ช่วยเหลืออะไร
หัวหน้าที่เข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ปล่อยให้ลูกน้องรู้สึกแบบนี้นานนัก เพราะหากทิ้งไว้นานนอกจากงานจะช้า ไม่สามารถดำเนินงานได้แล้วยังทำให้ทีมงานติดเป็นนิสัย มีปัญหาแล้วซุกไว้ใต้พรม เพื่อช่วยให้สถานการณ์แบบนี้คลี่คลาย หัวหน้าเช่นท่านควรเข้ามาสนับสนุนโดยการเป็นผู้ประสานงานนำไอเดียหรือแนวคิดของทีมงานเข้าปรึกษาพูดคุยกับผู้ริหารระดับสูงท่านอื่นในเบื้องต้นเพื่อขอรับการสนับสนุน ขอทราบแนวทางที่ชัดเจน จะได้เอาไปบอกกับทีมงานได้ว่าผู้บริหารท่านอื่นส่งสัญญาณมาว่าอย่างไร หรือถ้าให้ดีและมีโอกาสที่สามารถทำได้ท่านน่าจะพาทีมงานของท่านไปแนะนำตัวเพื่อพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงบ้าง เปิดโอกาสให้ทีมงานได้พบปะพูดคุย ซักถามข้อสงสัย และขอรับการสนับสนุนด้วยตนเองโดยที่มีท่านคอยประคับประคองอยู่ข้างๆด้วย นอกจากพนักงานจะอุ่นใจแล้วว่าแนวทางการทำงานที่ตนเองกำลังทำอยู่ผู้บริหารระดับสูงเห็นชอบแล้ว ไม่ต้องมากลัวว่าจะโดนตำหนิในภายหลัง ยังรู้สึกว่าหัวหน้าเช่นท่านช่วยสนับสนุนให้พวกเขามีโอกาสเกิดความก้าวหน้าในอนาคต
- การสนับสนุนด้านกำลังใจและการให้คำปรึกษา สำหรับผมแล้วการสนับสนุนข้อนี้ถือเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานและมีความจำเป็นที่สุดสำหรับการเป็นหัวหน้าคน เวลาคนทำงานเจออุปสรรคก็มักจะเกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจ อยากให้มีใครสักคนคอยรับฟังปัญหาที่พวกเขาเจอ เข้าใจความรู้สึกของพวกเขา และพร้อมที่จะเป็นกำลังใจให้พวกเขาฝ่าฟันกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามา ยิ่งถ้าคนนั้นสามารถให้คำปรึกษาที่ดีได้ ช่วยชี้แนะแนวทาง ทางออก ตลอดจนไปถึงสามารถช่วยแก้ไขปัญหาและสถานการณ์บางอย่างได้ยิ่งเป็นสิ่งที่ลูกน้องทุกคนปรารถนาสูงสุด
ลูกน้องไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านี้จากใครเลยที่จะมากไปกว่าต้องการจากหัวหน้าของพวกเขาเอง ขอเพียงให้หัวหน้าช่วยเสียสละเวลาอยู่ให้คำปรึกษาหรือเปิดโอกาสให้ลูกน้องเข้ามาขอคำแนะนำบ้างในบางครั้งบางคราวที่พวกเขาติดอุปสรรคบางอย่าง แค่นี้ก็ได้ใจลูกน้องของท่านแบบเต็มๆแล้ว คนทำงานมาทำงานทุกวันนี้ไม่ได้หวังเพียงเงินทองเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว พวกเขายังต้องการรู้สึกว่าทุกวันของการทำงานยังมีคนที่คอยช่วยเหลือพวกเขา เป็นเพื่อนกับพวกเขา อยากให้พวกเขาประความสำเร็จ และไม่ทิ้งพวกเขาไปในวันที่มีปัญหา
ท่านผู้อ่านสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ : https://www.noppol.net/