เคยสงสัยไหมว่า…ทำไม
ทำไมนักกีฬาที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของเรามากมายไม่สามารถสร้างผลงานจนก้าวขึ้นสู่ระดับโลก สร้างการยอมรับและการจดจำให้กับคนทั้งโลกอย่างที่ประเทศอื่นสามารถสร้างและพัฒนาคนของเขาได้
ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่าครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยมีนักฟุตบอลที่มีฝีมือการยิงประตูไม่เป็นสองรองใครในเอเชีย เรียกได้ว่าลงเล่นครั้งใดก็สามารถยิ่งประตูคู่แข่งได้อย่างสม่ำเสมอ มีโอกาสไปเล่นฟุตบอลลีคอาชีพในต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงยิงประตูสูงสุดในปีที่ไปเล่น ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมการันตีคุณภาพมากมาย แต่กลับยังไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นตำนานลูกหนังของโลกแบบที่บราซิลมี Pelé อาเจนติน่ามี Maradona และเยอรมนีมี Franz Beckenbauer
เกิดอะไรขึ้นกันแน่ที่ทำให้นักกีฬาที่มีความสามารถ มีศักยภาพจำนวนมากไม่สามารถก้าวไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม ไม่สามารถสร้างผลงานที่เป็นเลิศได้ดั่งเช่นที่เราทุกคนเชื่อกันว่าศักยภาพของพวกเขามีอยู่ และเรื่องจริงที่คล้ายคลึงกันกับเหตุการณ์เหล่านี้ก็มักเกิดขึ้นอยู่เสมอในการทำงานภายในองค์กรของพวกเราเอง และมันได้กลายเป็นความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้ กลายเป็นความน่าเสียดายที่ความสามารถที่มีกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด สะท้อนให้เห็นได้จากธุรกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นของประเทศไทยไม่สามารถขยายไปสู่ธุรกิจที่มีสาขาหรือการให้บริการลูกค้าที่ข้ามไปยังเขตพื้นที่อื่น จนกระทั่งครอบคลุมทั้งประเทศนอกเหนือจากภายในท้องถิ่นหรือจังหวัดของตนเอง ทั้งที่ธุรกิจของตนมีจุดแข็ง มีจุดเด่นและข้อได้เปรียบกว่าคู่แข่งมากมาย ภาพนั้นสะท้อนออกไปเช่นเดียวกับคำถามที่ว่าทำไมบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศเรา มีเงินทุนจำนวนมาก มีบุคลากรที่เพียบพร้อมเต็มไปด้วยความสามารถแต่กลับไม่สามารถขยายกิจการไปสู่ต่างประเทศเหมือนกับที่บริษัทข้ามชาติหลายแห่งรุกคืบมายึดครองเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประเทศเรา
เราพลาดตรงไหนกันแน่…?
มีหลายปัจจัยและหลายเหตุผลที่ทำให้เราไม่สามารถก้าวไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม จนถึงระดับที่เรียกว่ายอดเยี่ยม สาเหตุหลักประการหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือตัวองค์กรเองก็ตาม เมื่อประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ความสำเร็จนั้นได้สร้างความรู้สึกพึงพอใจ เบาใจและโล่งใจ รู้สึกว่าคุ้มค่าแล้วกับการลงทุนลงแรงที่ผ่านมา ความรู้สึกนั้นจะค่อยๆสะสมจนเกิดภาวะการณ์ที่เรียกว่า “ภาวะอิ่มตัว” เป็นสถานการณ์ที่ความกระตือรือร้น ความทุ่มเท ความอดทน ความเพียรพยายามและการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองค่อยๆหมดลงไปอย่างช้าๆ เกิดการออมแรงหรือทำงานไม่เต็มที่ จนบางทีเราเองก็ไม่รู้ตัวว่าภาวะอิ่มตัวนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว จนเมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไปภาวะนี้จะค่อยๆกลืนกินความสามารถของเราอย่างที่เรามิทันตั้งตัว
มีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่านี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่มีลูกน้องและเคยได้มอบหมายภารกิจที่ท้าทายบางอย่างให้เขาเหล่านั้นทำ หรือมีเพื่อนร่วมงานที่ท่านเคยขอร้องให้ช่วยเหลืองานบางอย่าง ท่านอาจคงเคยได้ยินคำพูดเหล่านี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น “ไม่รู้จะทำไปทำไม” “ ทำได้แค่นี้ก็พอแล้ว” “มีทุกอย่างที่ต้องการแล้ว ไปทำอย่างอื่นดีกว่า และที่ทำมาก็เต็มที่แล้ว” “จะเอาอะไรกันมากมาย” “แค่นี้ก็ทำงานเกินเงินเดือนแล้ว” “ยากเกินไป” “พี่อายุมากแล้ว ไม่เข้าใจหรอก”
เรามักสังเกตได้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ภาวะอิ่มตัวก่อกำเนิด ผลการทำงานจะเกิดการชะลอตัวมากขึ้น ทั้งที่ปัจจัยต่างๆไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ทุกคนดูมีความสุขในที่ทำงาน ยิ้มแย้มแจ่มใส จนเมื่อการชะลอตัวนำไปสู่สภาวะหยุดนิ่ง หรือ การทำงานเพียงเพื่อรักษาระดับผลงานให้เท่ากับอดีตที่ผ่านมา ทำแค่ให้ผ่านการประเมินเท่านั้น และเมื่อปล่อยภาวะนี้ให้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาพอสมควร จะส่งให้ผลการทำงานลดลงตามลำดับ และมีอัตราการลดลงเพิ่มมากขึ้น ภาวะอิ่มตัว จึงเปรียบเสมือนสนิมที่กัดกร่อนความสามารถของมนุษย์ ลองนึกภาพเวลาที่เราทานข้าวอิ่มมากๆ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเปิดแอร์เย็นๆนอนกลิ้งอยู่บนที่นอน ทันใดนั้นสิ่งที่เรียกว่า “ความขี้เกียจ” จะกระโดดขึ้นมาเกาะหลังเรา อาการเบื้องต้น คือ กระดูกสันหลังเราจะเริ่มยาวขึ้นเรื่อยๆ ขนจะเริ่มขึ้นตามตัว ตามร่างกาย เจ้าความขี้เกียจนี้จะเข้ามาครอบงำตัวเราอย่างรวดเร็ว และค่อยๆสะกดจิตเราไปในทุกๆวัน เราจะไม่อยากทำอะไรใหม่ เราจะมีเหตุผลมากมายที่คอยเอามาหลอกตัวเองว่าที่ไม่ทำเพราะอะไร เหยื่ออันโอชะของความขี้เกียจ คือ คนที่มีความสามารถนั้นเอง
เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าเก่งมากแล้ว เรียนมาเยอะแล้ว เราจะขี้เกียจอ่านหนังสือ ไม่อยากไปอบรมสัมมนาเพิ่มเติม ไม่อยากฟังคนที่คิดต่างจากเรา รู้สึกว่าการเรียนรู้หรือฟังคนอื่นเป็นเรื่องที่เสียเวลา ไร้ประโยชน์ เราจะยึดถือตัวตนของเรามากจนเลยกว่าคำว่ามั่นใจในตัวเอง จนมันกลายเป็นคำว่า EGO และแน่นอนในไม่ช้าเราจะกลายเป็นคนเก่งที่อยู่ในโลกใบเก่า เมื่อเรารู้สึกว่ารวยมากแล้ว เราจะขี้เกียจทำงาน ไม่ต้องทำงานเต็มที่ก็ได้ มีลูกค้ามากแล้วก็ไม่อยากที่จะต้องไปเหนื่อยหาลูกค้าใหม่ เราจะไม่กลับมาดูแลปรับปรุงบริษัทให้ทันสมัย เราจะไม่สนใจพัฒนาบุคลากร เราจะละเลย เพิกเฉย ปล่อยทุกอย่างไปตามยถากรรม
เมื่อเรารู้สึกว่าร่างกายเราแข็งแรงมากแล้ว เราจะลดการออกกำลังกายลง เริ่มกินเที่ยวดึกดื่นมากขึ้น เริ่มไม่ไปตรวจเช็คร่างกายตามที่หมอนัดไว้ น้ำหนักของเราจะค่อยๆเพิ่มมากขึ้น กางเกงเริ่มคับ เสื้อเริ่มปริ และแก้มเราจะเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถูกเพื่อนทักแล้วว่าเราไปทำอะไรมาถึงได้อ้วนขนาดนี้ จนเมื่อวันนั้นมาถึงเราจะพบว่าเราเริ่มปวดเข่า ปวดหลัง เหนื่อยง่ายและหายใจไม่ค่อยทันเวลาที่ต้องขยับเขยื้อนร่างกายบ่อยๆ
ภาวะอิ่มตัว พบได้รอบตัวเราในทุกๆวัน
นักเรียนรู้สึกว่าได้เกรด 3.35 ก็เพียงพอต่อการได้เกียรตินิยมอันดับ 2 แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องอ่านหนังสือมากขึ้น ขยันทำแบบฝึกหัด ติวหนังสือกับเพื่อนเพื่อให้ได้ 3.5 ซึ่งจะทำให้ได้เกียรตินิยมอันดับ 1
เจ้าของธุรกิจคิดว่าธุรกิจนี้พอไปได้แล้ว มีสัมปทานคุ้มครองอยู่ มีข้อได้เปรียบที่ไม่มีคู่แข่ง ก็เลยคิดว่าไม่ต้องพัฒนาอะไรแล้วในบริษัท อยู่กันไปแบบวันๆ ระบบการทำงาน เทคโนโลยี การวิจัยศึกษา การพัฒนาความสามารถพนักงานก็ถูกละเลย ผู้บริหารไม่สนใจลงมาสื่อสารพูดคุยกับพนักงานในเรื่องวิสัยทัศน์และแรงบันกาลใจในการทำงาน โดยลืมไปว่าโลกใบนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน อะไรที่ว่าแน่ในอดีตและปัจจุบัน อาจไม่แน่ในอนาคตก็ได้ ยิ่งช้า โอกาสดีๆยิ่งหายไปโดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร เพราะเขาอาจไม่รออยู่ให้ท่านพัฒนาแล้ว
พนักงานออฟฟิตหรือคนทำงาน รู้สึกว่า ทำงานแค่ให้คุ้มกับเงินเดือนก็พอแล้ว เขาจ้างเท่าไหร่ก็ทำเท่านั้น ไม่ต้องเรียนรู้ พัฒนาความสามารอะไรใหม่ๆหรอก เพราะไม่ได้อยากเป็นหัวหน้า หากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทำอะไรใหม่ๆได้เดี๋ยวก็งานเข้ามีแต่คนมาใช้ทำงาน เพราะฉะนั้นกี่สิบปีที่ทำงานก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆเลยกับชีวิต เป็นได้แค่คนที่ทำงานไปวันๆ กลายเป็นซากปรักหักพังที่ถูกทิ้งไว้ในองค์กร
คนที่มีความสามารถสูง รู้สึกว่าตอนนี้ก็โดดเด่นกว่าคนอื่นแล้ว เป็นแนวหน้า เป็นพนักงานตัวอย่างขององค์กรแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรมากกว่านี้ เหนื่อยไปก็เหมือนคนที่บ้าอยู่คนเดียว คนอื่นสบายแต่ทำไมเราต้องมาทุ่มเทเพื่อองค์กรอยู่ตามลำพัง คนที่มีความสามารถสูงหลายคนมีความคิดเช่นนี้ วันนึงคนกลุ่มนี้ก็หยุดพัฒนาแล้วกลายมาเป็นแค่คนธรรมดาทั่วไป
ผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างาน ที่มองไม่เห็นศักยภาพของทีมงานตัวเอง มองไม่เห็นความสามารถที่ซ่อนอยู่ในพนักงานไม่รู้ว่าจะพัฒนาทีมงานอย่างไรเพื่อให้พวกเขาสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้อย่างเต็มที่ กลัวว่าทำมากไป กดดันเกินไปทีมงานจะไม่ชอบ ไม่อยากให้ลูกน้องนินทาว่าเป็นหัวหน้าที่เผด็จการ หัวหน้าหลายคนเลยเลือกที่จะทำตัวเป็น Nice Guy อยู่แบบปัดความรับผิดชอบไปวันๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปแต่ละกรณี เน้นให้ลูกน้องรัก แต่ไม่สามารถผลิตผลงานอะไรได้เลย ทำแบบนี้เพียงเพื่อรอเวลาดีๆค่อยหาบริษัทใหม่อัพเงินเดือนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปอีกกี่บริษัทก็ยังพกพาวิธีคิดแบบเดิมติดตัวไปแพร่เชื้อที่อื่น แบบนี้น่าเศร้า…
หากองค์กรของท่านไม่อยากให้ภาวะอิ่มตัวนี้ลุกลามไปสู่ผู้บริหารและพนักงาน การปฏิรูปผลการทำงาน (Performance Transforming) หรือการเปลี่ยนผ่านผลการทำงานเดิมสู่ผลการทำงานใหม่ จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจและเร่งลงมือทำเสียแต่เนิ่นๆ เปลี่ยนจากผลงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานเข้าสู่มาตรฐานที่ยอมรับได้ จากผลการทำงานแบบธรรมดาสู่ผลการทำงานที่ดีขึ้น ในระดับที่สูงกว่า คือ จากผลการทำงานที่ดีสู่ผลการทำงานที่ดีเยี่ยม และที่สำคัญ การเปลี่ยนผ่านจากผลการทำงานที่ดีเยี่ยมสู่ผลการทำงานที่เป็นเลิศเต็มประสิทธิภาพตามศักยภาพที่มี เพราะถ้าองค์กรไม่ปฏิรูปผลการทำงาน ภาวะอิ่มตัวก็จะเกิดขึ้น คืบคลาน จนเกิดความเฉื่อยชาแผ่ขยายไปทั่วทั้งองค์กร ผลการทำงานโดยรวมก็จะตกต่ำลงเป็นลำดับ คนทำงานจะเอาแต่เล่นเกมการเมืองในองค์กร สร้างวังสร้างอาณาจักรมืดเพื่อรักษาอำนาจและสถานภาพของตน จนหลงลืมเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทุกระดับ ต้นทุนและค่าเสียโอกาสของการทำงานและการดำเนินธุรกิจจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ความจริงอันโหดร้ายที่เกิดขึ้น คือ เมื่อองค์กรของเราหยุดนิ่ง เมื่อทีมงานของเราเฉื่อยชา เมื่อเราหมดพลังในการพัฒนาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เมื่อเราเองไม่ยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลง เราจะพบว่าคู่แข่งของเรากำลังมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าอยู่เสมอหากยึดติดกับความภาคภูมิใจในอดีตมากเกินไป ก็จะพบกับความโหดร้ายในปัจจุบันและมหันตภัยที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต
เปลี่ยนองค์กรและทีมของเราให้เป็นองค์กรประสิทธิภาพสูง (High Performance Organization : HPO )
ผู้นำไม่ควรปล่อยให้คนที่มีศักยภาพซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนผลงานขององค์กรให้เปลี่ยนสภาพกลายมาเป็นคนที่ไร้ความสามารถ คนที่ไม่ค่อยสร้างผลงาน สร้างแต่ปัญหา คนที่ไม่ทำงานแต่ก็อยู่ได้ คนที่เอาแต่โวยวายโดยไม่ฟังข้อมูลให้ครบถ้วน เพราะมิฉะนั้น จากองค์กรที่เคยเป็น HPO จะกลายเป็นองค์กรที่มีผลงานตกต่ำลงเรื่อยๆ และเมื่อสถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนาน องค์กรนี้จะสูญเสียประสิทธิภาพอย่างถาวร และจะยากลำบากมากในการเปลี่ยนองค์กรที่สูญเสียประสิทธิภาพไปอย่างถาวรแล้ว ให้กลับมาเป็น HPO อีกครั้ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นได้แผ่ขยายกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร กลายเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยคนที่หมดไฟ ไร้ความกระตือรือร้น
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในการปฏิรูปผลการทำงาน คือ ผู้นำองค์กร (Leader) กับสมาชิกทีม (Team Member) จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันที่มากขึ้นผ่านการทำความเข้าใจและมีข้อตกลงร่วมเพื่อที่จะแสวงหาและกำหนดกระบวนการ ขั้นตอน และแนวทางการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การดึงศักยภาพของทีมงานแต่ละคนออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เต็มประสิทธิภาพ นำมาสู่ผลการทำงานที่ดีที่สุด
ผู้นำองค์กร ผู้บริหาร หัวหน้าทีม หากไม่อยากให้สภาวะสูญเสียประสิทธิภาพอย่างถาวรเกิดขึ้นกับองค์กรหรือทีมงานของท่าน การปฏิรูปผลการทำงาน (Performance Transforming) จึงเป็นสิ่งจำเป็นและคำตอบสุดท้ายที่ต้องได้รับการสนใจ เอาใจใส่ และได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด การปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ โดยที่ผู้นำไม่ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน เอาแต่นั่งภาวนาให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลง อยากให้พนักงานทำงานดีขึ้น อยากให้ผู้บริหารที่ตำแหน่งรองจากเรากระตือรือร้นมากขึ้น ทุ่มเทมากขึ้น แต่เราไม่ลงมือทำอะไรเลย นอกจากการนั่งบ่น อึดอัด และรู้สึกว่าทุกอย่างไม่เป็นไปดั่งใจ ท่านก็จะไม่มีโอกาสเห็นการปฏิรูปผลการทำงานเกิดขึ้นได้จริงเลยในองค์กร
ในครั้งหน้าผมจะขอนำหลักการของ HIGH มาอธิบายให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพของกระบวนการปฏิรูปผลการทำงานในแต่ละขั้นตอน ผู้นำ ผู้บริหาร ผู้จัดการทุกคนอย่าพลาดนะครับ แล้วพบกัน….