โดยปกติแล้วช่วงปลายปีถือเป็นช่วงวัดใจของผู้บริหารและพนักงาน ใครจะได้ไปต่อกับองค์กร ใครบ้างที่กำลังจะตัดสินใจออกไปเผชิญโลกกว้างนอกองค์กร ก็คงเห็นการเปลี่ยนแปลงกันอย่างเป็นรูปธรรมก็คงเป็นช่วงหลังจากรับโบนัสประจำปีผ่านพ้นไปแล้ว

มีหลายสาเหตุที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกจากบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่มาหลายปี สาเหตุหลักๆก็คงหนีไม่พ้น เช่น มีปัญหากับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน  ได้งานที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า  ลาออกไปศึกษาต่อ อยากเปลี่ยนลักษณะของงาน ย้ายไปทำงานใกล้บ้าน มองไม่เห็นอนาคตที่จะเติบโตในองค์กร ผิดหวังผลการประเมิน หรืออยากออกไปทำธุรกิจของตนเอง

ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม หากการจากลาเป็นการจากลากันด้วยดี พนักงานคนนั้นก็คงไม่แสดงพฤติกรรมแสบๆบางอย่างออกมา แต่หากเป็นการจากลาที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เช่น มีปัญหาความขัดแย้งทั้งในเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงาน  ที่อาจสะสมบ่มเพาะความไม่พอใจระหว่างกันมานานแล้ว ท่านผู้อ่านก็อาจจะพบเห็นพฤติกรรมแสบๆเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ลองดูครับว่าท่านเคยพบเห็นพฤติกรรมเหล่านี้มาบ้างไหม หรือ ท่านเองเคยทำแบบนี้มาบ้างหรือเปล่า

  1. แสดงตัวตน  

ในการทำงานร่วมกัน มีคนจำนวนมากเลือกวิธีการเก็บซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองไว้ข้างใน ไม่สื่อสารความรู้สึกของตนเองออกมาอย่างเปิดเผย เช่น หากคนจะลาออกเป็นลูกน้องที่ต้องทำงานกับหัวหน้า  ก็คงมีบ้างที่ไม่ชอบหลายอย่างที่หัวหน้าเป็นหรือแสดงออก เช่น อาจไม่ชอบที่หัวหน้าจู้จี้เรื่องงาน เสียงดัง ชอบตำหนิ หรือใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ เมื่อลูกน้องยังไม่มีทางไป ก็อาจเลือกวิธีหลบซ่อนตัวตน ด้วยการแสดงออกว่านอนสอนง่าย หัวหน้าว่าอะไรก็ตามนั้น เป็นเด็กดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เจอหน้าก็ทักทาย  รับฟังที่หัวหน้าดุ ไม่ตอบโต้  ไม่โต้เถียง ยังคงรักษาความสัมพันธ์ ไปเที่ยวไปกินข้าวกันแบบสนิทสนม มีเรื่องอะไรก็เล่าให้กันฟัง

เมื่อพนักงานได้ที่ทำงานใหม่ หรือ ตัดสินใจว่าออกแล้วแน่นอน คราวนี้ก็ถึงเวลาได้ปลดปล่อย แสดงตัวตน ความรู้สึกที่แท้จริงออกมาสักที หลักจากเก็บกดไว้ข้างในใจมานาน เหมือนในภาพยนต์ของ Marvel ที่มีตัวยักษ์สีเขียวจอมพลังที่มีชื่อว่า ฮัค (Hulk) จะออกมาและทำให้ร่างของชายหนุ่มนักวิทยาศาสตร์ธรรมดากลายเป็นจอมทำลายล้างทุกสิ่งจนราบคาบ  ตัวตนที่ถูกปลดปล่อยออกมาสะท้อนออกมาจากพฤติกรรม เช่น ไม่รับฟัง โต้เถียง ชักสีหน้า ตีตัวออกห่าง ไม่สุงสิงเหมือนเดิม ตอบ Line ช้า/ไม่อ่าน Line กลุ่ม เหวี่ยง วีน ตอบคำถามแบบกวนๆ พยายามแยกตัวออกจากกลุ่ม ฉันจะทำอะไรก็ได้ตามใจตามความรู้สึกของฉัน ไม่ต้องสนใจความรู้สึกของใครแล้ว เพราะตอนนี้ไม่ต้องกลัวผลประเมินของใครอีกต่อไปแล้ว

การแสดงออกในอดีตเมื่อครั้งยังไม่ตัดสินใจลาออก หากเป็นการแสดงออกที่ขัดแย้งกับความรู้สึกหรือตัวตนที่แท้จริงของตนเอง   ยิ่งปล่อยให้เกิดความรู้สึกแบบนี้ไปนานๆ พนักงานคนนั้นก็จะยิ่งรู้สึกไม่ดีกับตนเอง เพราะไม่สามารถแสดงตัวตนหรือควารู้สึกของตัวเองออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา  และพาลรู้สึกไม่ดีกับคนอื่นไปด้วย เหมือนระเบิดเวลาที่ถูกฝังไว้ใต้ดินรอวันที่จะระเบิดออกมา นั่นคือ สาเหตุที่ว่าทำไมหัวหน้าหลายคนถึงรู้สึกประหลาดใจ จนอาจเรียกได้ว่า ช็อคความรู้สึกกันไปตามๆกัน เมื่อเห็นพฤติกรรมของพนักงานคนนี้ตอนที่พวกเขาเหล่านั้นตัดสินใจลาออกแล้ว เสมือนแรงสั่นสะเทือนจากระเบิดลูกนั้นได้รับการปลดปล่อยออกมาแล้ว

  1. เกียร์ว่าง

ผมเองเคยมีลูกน้องที่ลาออกเพราะได้งานที่อื่นที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงสูง อีกทั้งยังอยู่ใกล้บ้านด้วย การที่พนักงานของเราได้เลือกอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน หัวหน้าที่ดีก็ควรต้องรู้สึกยินดีเป็นธรรมดา และไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียใจเลยสักนิดที่ลูกน้องของเราไปได้ดี มีอนาคตที่สดใส เหมือนทำงานแล้วมีการเติบโตขึ้น มั่นคงขึ้น และที่สำคัญได้มีเวลาดูแลครอบครัว ไม่ต้องเสียเวลา เสียสุขภาพจิตมานั่งรถติดในกรุงเทพ เพราะฉะนั้นก็ถือเป็นการจากลากันด้วยดี  ไม่มีเรื่องบาดหมางหรือเรื่องขัดแย้งกันแต่ประการใด

โดยปกติแล้วน้องคนนี้ก็เป็นเด็กที่ตั้งใจทำงาน กระตือรือร้น ทำงานเร็ว ไม่มีหมักดองงานไว้นาน  เรียกได้ว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความรับผิดชอบดีทีเดียว  แต่เหตุการณ์กลับเปลี่ยนแปลงไปในช่วงสุดท้ายของการทำงานร่วมกัน  เมื่อน้องคนนี้ตัดสินใจแล้วว่าจะลาออกแน่นอน เพราะได้รับการตอบรับจากองค์กรใหม่แล้ว   สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับไวจนน่าประหลาดใจก็ คือ เดือนสุดท้ายที่พนักงานคนนี้ทำงาน  เป็นเดือนที่เขาไม่มีผลการทำงานออกมาสำเร็จเลยสักชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานง่ายหรืองานยาก  เมื่อหัวหน้ามอบหมายงานให้ ก็ไม่มีการตอบรับหรือปฏิเสธ  ทำมึนๆอึนๆ เหมือนไม่ได้ยินงานที่ได้รับบมอบหมาย สอบถามความคืบหน้าของงาน ก็ตอบแบบขอไปที ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากพฤติกรรมที่แสดงออกมาตลอดในระหว่างที่ทำงานด้วยกัน

ทั้งนี้ก็อาจเป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจได้ว่า พนักงานที่กำลังจะลาออก ก็คงไม่มีแรงจูงใจอะไรอีกแล้วให้ต้องแสดงพฤติกรรมทุ่มเทแบบที่ผ่านมา แต่สิ่งที่คนทำงานทุกคนพึงระลึกไว้เสมอก็คือ ไม่ว่าเราจะทำดีมาแค่ไหนก็ตาม แต่คนมักจะจำภาพสุดท้ายของเราได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นการที่เราแสดงพฤติกรรมที่เรียกว่า เกียร์ว่าง มันทำได้ทำลายภาพลักษณ์ที่ผ่านมาของเราโดยสิ้นเชิง นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

  1. ไม่ถ่ายทอดงานให้คนอื่น

พนักงานจำนวนหนึ่งคิดว่าตนเองเป็นคนสำคัญของหน่วยงาน เมื่อลาออกจากบริษัทด้วยเหตุผลบางอย่างที่ไม่ดี เช่น ผลประเมินไม่ได้ตามที่คาดหวัง หัวหน้าไม่เห็นความสำคัญ เมื่อลาออกแล้วก็รู้สึกว่าองค์กร หน่วยงาน หรือ หัวหน้าต้องได้รับบทเรียนซะบ้าง ที่ตอนเราทำงานอยู่ไม่ดูแลเราให้ดี ไม่ให้ความสำคัญกับเรา เพราะฉะนั้น ถ้าองค์กรนี้ขาดเราไปสักคน รับรองได้เลยว่าหน่วยงานนี้ต้องมีปัญหายุ่งยากแน่นอน  เพราะไม่มีใครสามารถทำงานแทนฉันได้ ไม่มีใครรู้งานนี้เท่าฉันอีกแล้ว

เมื่อคิดดังนั้น พฤติกรรมที่แสดงออกก็คือ การกั๊กข้อมูล ไม่ถ่ายทอดงานให้กับคนอื่นที่ต้องมารับช่วงต่อ ดังนั้นหากได้รับมอบหมายจากหัวหน้าให้สอนงาน  พนักงานที่ลาออกก็จะใช้พฤติกรรม คือ สอนแบบขอไปที ไม่ลงรายละเอียดที่สำคัญ ถามคำตอบคำ และแสดงอารมณ์หงุดหงิดเวลาที่ถูกซักถามถึงรายละเอียด โดยอาจมีคำพูดประจำ คือ “อยากรู้อะไรก็ถามมา”  ใครที่ต้องมาทำงานรับช่วงต่อก็เบื่อหน่ายกันไปตามๆกัน  งานก็เสีย เกิดความผิดพลาด ตามมาเป็นลูกโซ่

พนักงานที่ทำแบบนี้อาจคิดว่าอยากให้บทเรียนกับองค์กรหรือหัวหน้า ที่ต้องรู้สึกเสียดายที่สูญเสียพนักงานแบบเขาไป แต่ในความเป็นจริง คือ องค์กรหรือหัวหน้าไม่ได้รู้สึกมองเห็นคุณค่าของพนักงานแบบนี้เพิ่มมากขึ้นเลย ในทางตรงกันข้ามยังรู้สึกได้ว่าพนักงานคนนี้ใจแคบและเห็นแก่ตัวมากเกินไปจนลืมคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาพรวมขององค์กรและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องเผชิญความยุ่งยากลำบากในการเข้าไปคุ้ยหาข้อมูลด้วยตนเองในเรื่อง รายละเอียดของงาน ข้อมูลการติดต่อประสานงาน งานที่ค้างคาไว้

นอกจากไม่ถ่ายทอดงานแล้ว ยังมีพฤติกรรมเก็บรวบรวมข้อมูลไว้กับตนเองด้วยการบันทึกข้อมูลใส่ External Disk ไป เช่น แบบฟอร์มต่างๆ ฐานข้อมูลลูกค้า ไฟล์นำเสนอ เพื่อนำไปใช้ในโอกาสต่อไปเมื่อต้องไปทำงานที่อื่น จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปสร้างใหม่อีก ซึ่งหลายไฟล์เป็นข้อมูลขององค์กร เป็นสมบัติขององค์กรไม่เหมาะสมในการที่พนักงานจะนำไปใช้ที่อื่น

  1. ทิ้งระเบิด

พฤติกรรมแบบนี้ถือว่ารุนแรง และสร้างพลังอำนาจในการทำลายล้างค่อนข้างสูง เพราะการทิ้งระเบิด คือ การแฉเรื่องบางเรื่อง ข้อมูลบางอย่าง ที่ไม่ควรนำมาพูด ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง  เช่น การพูดว่าคนนั้นไม่ถูกกับคนนี้ คนนี้ไม่จริงใจกับคนนี้ คนนี้เคยพูดแบบนี้แบบนั้นลับหลังคนอื่น เมื่อแฉเสร็จแล้วตัวเองก็ออกจากบริษัทไป โดยไม่ได้สนใจว่าใครจะได้รับความเดือดร้อนตามมา

บางคนก็ทิ้งระเบิดในห้องประชุม ด้วยการแสดงพฤติกรรมพูดโพล่งออกมา พูดถึงคนอื่นในแง่ที่ไม่ดีว่าคนไปทั่ว และโทษทุกอย่างว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเขาเองต้องลาออกจากบริษัท โดยหลงลืมที่จะมองดูพฤติกรรมของตนเองว่าก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญที่สุดของการตัดสินใจลาออกของตนเอง

คนที่แสดงพฤติกรรมแบบนี้ออกมาบ่งบอกถึงวุฒิภาวะของคนที่ทิ้งระเบิดทำลายผู้อื่น เพราะแสดงถึงสภาวะอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมสติของตนเองได้ พาลไปทั่ว และไม่รับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตนเอง การจบกันแบบนี้เรียกได้ว่าแทบจะมองหน้ากันไม่ติด และทำให้คนรู้สึกไม่ดีไปอีกนาน

แต่การทิ้งระเบิดก็อาจมีข้อดีอยู่บ้าง หากเป็นการแฉเรื่องไม่ชอบมาพากล หรือ เรื่องทุจริตที่เกิดขึ้น เพราะทำให้คนที่อยู่อาจได้เห็นข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยคำนึงถึง และหันกลับมาให้ความสนใจกับปัญหานี้ แต่สำหรับผมลึกๆแล้วก็ยังเชื่อว่า เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าการมาแฉกันตอนลาออกแล้ว ท่านควรจะลงมือทำอะไรบางอย่างได้ตั้งแต่ตอนที่ยังทำงานอยู่

ทั้งนี้ไม่ว่าท่านจะลาออกด้วยสาเหตุใด ผมอยากให้นึกถึงว่าช่วงเวลาทำงานที่อยู่ด้วยกัน อย่างน้อยก็คงมีเรื่องดีๆที่ทำให้กันบ้างไม่มากก็น้อย  เพราะฉะนั้นตอนที่จะลาจากกัน ก็ควรจะจากกันด้วยดี รักษาความสัมพันธ์กันไว้ ใครจะรู้ว่าในอนาคตอาจมีโอกาสได้กลับมาเจอกันอีกครั้งไม่ว่าในสถานะใดก็ตาม แล้วเมื่อมองย้อนกลับมาจะพบว่า การแสดงพฤติกรรมบางอย่างของเราในช่วงที่เราจะออกจากองค์กรเป็นเรื่องไม่น่ารักเลย  และสงสัยว่าเราทำไปเพื่ออะไรกันแน่ ไม่มีประโยชน์อันใดดีกับตนเองเลย