ในครั้งก่อนผมได้อธิบายให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงจิตสำนึกพื้นฐาน 3  เรื่อง คือ  1.จิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย (Sense of  safety) 2. จิตสำนึกเรื่องความเร่งด่วน (Sense of emergency) และ 3. จิตสำนึกเรื่องความรู้สึกเป็นเจ้าของ  (Sense of belonging)

วันนี้เราจะมาต่อกันในจิตสำนึกขั้นพื้นฐานตัวที่ 4 -6  ซึ่งได้แก่

  1. จิตสำนึกเรื่องความยอดเยี่ยม (Sense of Excellence)

จิตสำนึกด้านนี้ เป็นจิตสำนึกขั้นพื้นฐานที่หลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่มีลักษณะแบบแข่งขัน ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาพนักงานอยากสร้างให้เกิดขึ้นกับบุคคลากรของตนมากที่สุด เพราะเป็นจิตสำนึกที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพของทุกๆสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุดอยู่กับที่โดยเฉพาะในเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน คุณภาพของการทำงานที่ดีกว่าเดิม การพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานตลอดไปจนถึงผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ลดข้อผิดพลาด ลดปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของการทำงาน เพราะเราเชื่อว่าถ้าทุกคนในองค์กรมีจิตสำนึกเรื่องดังกล่าวนี้แล้ว ทุกคนจะแสดงออกถึงความกระตือรือร้นและมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่ดียิ่งขึ้นให้กับองค์กร ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียทุกคนอย่างเต็มกำลังความสามารถ

จิตสำนึกเรื่องความยอดเยี่ยม เป็นจิตสำนึกหนึ่งที่ค่อนข้างจะขัดกับวิถีชีวิตการเป็นอยู่ดั้งเดิมของสังคมแบบไทยๆ เพราะด้วยสภาพของสังคมที่อุดมสมบูรณ์ทำให้เกิดการหล่อมหลอมไปสู่วิธีคิดบางอย่างที่ส่งผลมาถึงการทำงาน พนักงานจำนวนมากพอสมควรที่ผมมีโอกาสพบเจอตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีวิธีการทำงานแบบไปเรื่อยๆ ชิลๆ ไม่แสดงออกถึงความกระตือรือร้นที่จะมุ่งมั่นพัฒนาการทำงานของตนเองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เป็นรูปแบบการทำงานที่มักไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา แต่มุ่งเน้นไปที่การทำตามคำสั่งให้เสร็จไปในแต่ละครั้ง เรียกได้ว่าถ้าสั่งมาแบบไหนก็ได้แบบนั้น หรือ แย่กว่านั้น การที่จะหวังให้ได้ผลงานที่ดีเยี่ยม หรือเกินความคาดหวังแทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย

ท่านผู้อ่านเคยเจอคำพูดเหล่านี้มาบ้างหรือไม่ ลองนึกทบทวนดูครับ “จะทำไปทำไมให้เหนื่อย จ้างแค่ไหนก็ทำแค่นั้น”, “ทำให้ตาย ก็ไม่มีคนเห็น”, “ทำไปก็ไม่เห็นได้อะไร เอาแค่นี้แหละพอแล้ว”  คำพูดเหล่านี้ล้วนสะท้อนออกมาจากวิธีคิดของคนที่ไม่มีจิตสำนึกเรื่องความยอดเยี่ยม เพราะเมื่อไหร่ที่คุณมีจิตสำนึกของความยอดเยี่ยม คุณเองจะเกิดความรู้สึกจากภายในของตนเองเลยว่า ด้วยความสามารถที่คุณมี คุณสามารถทำงานชิ้นนี้ได้ดีกว่านี้อีกมากมายนัก เพราะฉะนั้นคุณเองจะรู้สึกไม่สบายใจ หากต้องปล่อยงานชิ้นไหนออกมาในคุณภาพที่คุณรู้สึกว่าไม่สอดคล้องกับความสามารถที่คุณมีต่องานนั้นๆ เรียกได้ว่าไม่ต้องรอให้ใครมาบอกให้คุณต้องพยายามปรับปรุงผลงานในครั้งต่อไป เพราะคุณเองจะพยายามครุ่นคิดอยู่เสมอว่าจะหาวิธีการทำงานอย่างไรให้ผลงานออกมาดีขึ้นกว่าครั้งก่อน

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงต้องเคยทำงานกับใครบางคนที่ทำงานเรื่อยๆ ขาดความกระตือรือร้น ขาดแรงบันดาลใจ และทำงานเพื่อให้หมดไปวันๆ แล้วก็รอเวลาเพื่อให้ถึงเช้าวันใหม่เพื่อที่จะกลับมาทำงานแบบเดิม ไปตลอดจนเกษียณอายุ  เชื่อผมเถอะครับการทำงานแบบนี้ไม่สนุกเลย เพราะเมื่อย้อนหลังกลับมาพิจารณาชีวิตอีกครั้ง เราอาจพบว่าในแต่ละช่วงเวลาที่เราอายุมากขึ้น เรากลับไม่ได้เติบโตไปพร้อมกับอายุเลย ทั้งวิธีคิดในการทำงาน ความเข้าใจในโลกใบนี้ รวมถึงเราไม่ได้มีทักษะใหม่ๆที่เพิ่มเติมขึ้นมาเลยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แบบนี้ถือเป็นเรื่องเศร้าของตัวเขาเอง และของ HRD ที่ปล่อยให้เกิดคนเหล่านี้ขึ้นในองค์กร

 

  1. จิตสำนึกเรื่องความเป็นมนุษย์ (Sense of Human)

การเห็นอกเห็นใจกัน ช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัย การให้อภัย การเคารพให้เกียรติ การไม่แบ่งแยกดูถูกใครทั้งในเรื่องสีผิว เชื่อชาติ หรือ เพศสภาพ ถือเป็นจิตสำนึกขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ และนั่นคือเหตุผล ที่มาที่ไปที่ทำให้เรากับคนอื่นๆในโลกใบนี้สามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นชุมชน และสร้างสมวัฒนธรรม ประเพณีอันเป็นบ่อเกิดของอารยธรรมของมนุษยชาติและสืบสาน ส่งมามาแล้วนานแสนนาน

การทำงานอยู่ร่วมกันจำเป็นที่คนทำงานต้องมีจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ดังกล่าว เพราะแม้ว่าเราจะเป็นหัวหน้าหรือลูกน้อง เราแต่ละคนก็มีศักดิ์ศรี ต้องการเป็นคนสำคัญเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าหัวหน้ามีศักดิ์ศรีฝ่ายเดียว จะทำอะไรกับลูกน้องก็ได้ จะดุด่า ใช้คำพูดรุนแรง แค่ไหนก็ไม่เป็นไรเพราะอย่างไรลูกน้องก็ต้องยอมหัวหน้าอยู่แล้ว การคิดแบบนี้เป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้วอย่างสิ้นเชิงในการทำงานร่วมกันในยุคปัจจุบัน แต่ก็ยังคงมีหัวหน้าที่หลงยุค ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ยังคงคิดว่าลูกจ้างก็เหมือนทาสในสมัยก่อนจะกดขี่ข่มเหงอย่างไรก็ได้

ในยุคปัจจุบันคนมีทางเลือก มีหลายอาชีพมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ได้คิดว่าจำเป็นต้องเรียนจบแล้วต้องพยายามหาทางเข้าไปทำงานในองค์กรต่างๆเหมือนในสมัยก่อน มีเด็กจำนวนอยากที่จะเป็นผู้ประกอบการ เป็นเจ้าของธุรกิจเอง ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากเข้าไปแล้วเจอสภาพของการทำงานที่ทำลายศักดิ์ศรีของตนเอง

หากคนที่เราทำงานด้วยไม่มีจิตสำนึกเรื่องความเป็นมนุษย์ สิ่งที่เราจะพบเจอ คือ การดูถูกเหยีดหยาม การกีดกันไม่ให้ขึ้นตำแหน่ง การปิดโอกาสหรือการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล ท่านอาจเจอสภาพการทำงานที่เต็มไปด้วยความกดดัน บีบคั้นจิตใจจนทำลายสภาพจิตใจ เจอทั้งคำพูดเสียดสี ขาดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนสภาพบรรยากาศในการทำงานเหมือนอยู่ตัวคนเดียว และรอบข้างเต็มไปด้วยศัตรู เวลามีปัญหาก็ไม่มีคนคอยรับฟัง เจอแต่คนที่คอยเหยียบย่ำซ้ำเติม แน่นอนครับที่สภาพการทำงานแบบนี้ หากเกิดขึ้นในองค์กรแล้วแปลว่าคนในองค์กรแห่งนั้น ยังไม่สามารถสร้างจิตสำนึกเรื่องความเป็นมนุษย์ได้ คงยากที่จะมีคนอยากเข้ามาทำงานในสภาพที่องค์กรเต็มไปด้วยคนเหล่านั้น

  1. จิตสำนึกเรื่องความมีอารมณ์ขัน (Sense of Humor)

มีคนกล่าวไว้ว่า ความเครียดทำงานให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนสุขภาพร่างกายของมนุษย์ ท่านผู้อ่านเชื่อแบบนี้ไหมครับ ส่วนตัวผมเองเชื่อคำพูดนี้ 100% ครับ โดยข้อพิสูจน์จากตัวผมเองและคนรอบข้างจำนวนมากที่ต่างประสบพบเจอกับปัญหาสุขภาพนานับประการที่ล้วนแล้วแต่มีผลสืบเนื่องมาจากความเครียดที่ถูกเก็บสะสมไว้ในจิตใจและสมองของเรา

เนื่องด้วยการที่ผมและใครอีกหลายคนเป็นมนุษย์ที่เรียกได้ว่าจริงจังกับชีวิต เราวางแผนในชีวิตกับทุกๆเรื่อง และที่สำคัญเราจะลงมือทำมุกอย่างอย่างเต็มที่เพื่อให้แผนที่เราวางไว้ในชีวิตประสบความสำเร็จ และมันก็เป็นอย่างนั้นมาตลอดตั้งแต่ตอนเป็นเด็กๆ ผลการเรียน การคบเพื่อน ใบปริญญา ชีวิตคู่ที่ดี สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เราคาดหวังและกดดันตนเอง โดยการบอกกับตัวเองว่าทุกอย่างต้องออกมาตามที่เราคาดคิด

ความเป็นจริงที่ปรากฎต่อมาเมื่อเราเติบโตขึ้น คือ หลายอย่างในโลกใบนี้ไม่ง่ายและเราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปควบคุมทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราได้ ปัญหา อุปสรรค พร้อมที่จะเกิดขึ้นและดาหน้าเข้ามาหาเราอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เราค้นพบว่าเริ่มสูญเสียอำนาจแห่งการควบคุมที่เคยคิดว่าตนเองมีอยู่ จนวันหนึ่งความเครียดก็เข้ามาครอบงำ มันซึมลึกลงไปอยู่ในสมองส่วนลึกของเรา จนหลายครั้งเราแทบไม่รู้ตัวเองเลยว่าเรากลายเป็นใครคนหนึ่งที่เราไม่ชอบ คนที่เราไม่อยากเป็นเสียแล้ว

ท่านผู้อ่านเคยเป็นไหมครับที่อยู่ดีๆก็อาจมีคนทักเราว่าหน้ามุ่ยมาจากไหน ทำไมช่วงนี้ดูเครียดๆ ตาขวางมาเลย ตอนนี้ไม่มีใครกล้าเข้าหาแล้ว เขากลัวเราจะกินเลือดกินเนื้อเขากันหมดแล้ว นั่นแหละครับคือสัญญาณที่บ่งบอกว่า ท่านกำลังถูกความเครียดเข้าครอบงำเสียแล้ว หากยังไม่ทำอะไรบางอย่าง สุดท้ายบรรยากาศการทำงานภายในทีมจะถูกทำลาย และผลร้ายจากความเครียดนั้นจะย้อนกลับมาทำงานสุขภาพของท่านเหมือนกับที่ใครหลายคนกำลังประสบอยู่

จิตสำนึกของการมีอารมณ์ขัน คงไม่ได้หมายความว่าท่านต้องเล่นตลกได้อย่างโน้ต เชิญยิ้ม หรือสามารถหัวเราะได้ทั้งวันแม้ต้องนั่งฟังมุกตลกที่แสนจะน่าเบื่อ แต่ผมกำลังหมายถึงการมองสถานการณ์ หรือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในมุมบวกบ้าง พยายามอย่าไปแบกรับความเครียด ความกดดันทุกอย่างรอบตัวมากจนเกินไป คงไม่มีคำใดดีกว่าคำทางพุทธศาสนาของเราที่บอกว่า หัดปลงซะบ้าง เพราะอย่างไรแล้วอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

เมื่อท่านผู้อ่านเผชิญหน้ากับปัญหา ทางออกที่ดีที่สุด คือ พยายามมีสติกับสถานการณ์นั้นให้มากที่สุด เรื่องจริงที่เกิดขึ้น คือ ความเครียด เป็นตัวขับไล่สติของเราที่ดีที่สุด แต่อารมณ์ขัน การยอมรับ การมองโลกในแง่บบวกกลับช่วยเหนี่ยวรั้งสติของเราให้กลับมาโดยเร็ว ไม่เพียงแต่เราเท่านั้น ทีมงาน คนรอบข้าง ครอบครัวของเราเมื่อเขาเห็นเรายังยิ้มได้ เท่ากับว่าเรากำลังส่งสัญญาณให้เขาทราบว่า เรามีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจในการที่จะลุกขึ้นมารับมือกับปัญหาจนทำให้สถานการณ์ยากลำบากนี้ลุล่วงไปได้ เขาเองก็จะคลายความกังวล เกิดสติขึ้นมาอีกครั้ง กลับเข้ามาเป็นทีมของเราที่จะช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาที่ถาโถมเข้ามา

ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่มีจิตสำนึกเรื่องความยอดเยี่ยม แต่ขาดจิตสำนึกเรื่องอารมณ์ขัน ก็เหมือนคนที่เดินด้วยขาข้างเดียว อีกขากระเพลก ไม่มีทางที่จะวิ่งได้เร็วเหมือนคนที่เดินด้วย 2 ขา ถามตัวท่านเองก็ได้ว่าอยากทำงานกับคนแบบไหน คนแรกมุ่งหวังแต่ความสำเร็จอันยอดเยี่ยมจนทำให้เกิดความเครียดแผ่ปกคลุมไปทั้งทีมงาน เจอหน้าทีไรหวาดผวาไปตามๆกัน หรือ อยากทำงานกับคนที่พยายามทำให้ดียิ่งขึ้น แต่ก็มีอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี เข้าใจและปฏิบัติอย่างคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมงาน ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านตัดสินใจได้ทันทีเลยว่า คงดีแน่ๆที่ฉันจะได้มีโอกาสทำงานกับคนแบบที่ 2

การสร้างจิตสำนึกดูเหมือนเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ แต่จริงๆแล้ว เป็นเรื่องที่สร้างได้ ด้วยการที่ผู้บริหารระดับสูงแสดงออกถึงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าองค์กรของท่านยึดถือเรื่องเหล่านี้ โดยมีทีม HRD ช่วยกันรณรงค์ ส่งเสริม สื่อสารออกไปในรูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งได้มีการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการเป็นระยะ ทำให้เกิดการพูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าวอยู่เสมอ สร้างกิจกรรม สร้างโอกาสให้จิตสำนึกเหล่านี้หลอมรวมจนกลายเป็นค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรต่อไปในอนาคต