การทำบางสิ่งให้ประสบความสำเร็จ ก็คงคล้ายกับการขับเคลื่อนตนเองจากจุดที่อยู่ในปัจจุบัน ไปสู่อีกจุดหนึ่งที่ดีกว่าเดิม   ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่จะทำให้ตนเองลุกออกมาจากจุดเดิมที่อยู่มานานไปสู่จุดใหม่ที่ไม่คุ้นเคย  ย่อมต้องอาศัยความกล้า แรงกาย แรงใจมหาศาล เพราะในระหว่างทางมีอุปสรรคมากมายที่คอยขวางกั้นระหว่างคำว่า เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ กับ กล้าที่จะแตกต่าง

ยิ่งไม่ง่ายเลยหากเราจะต้องขับเคลื่อนใครสักคนให้เปลี่ยนแปลง เพราะแม้กระทั่งตัวเราเองในหลายๆครั้งยังไม่สามารถขยับเขยื้อนไปสู่จุดที่เป็นเป้าหมายของเราได้เลย …. คำถามที่น่าสนใจ คือ เราควรต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้เขาเชื่อและมั่นใจเหมือนที่เราเชื่อ เห็นเหมือนที่เราเห็น และอยากเดินไปกับเราตามที่เราอยากพาเขาไป โดยที่เขายังคงรักษาตัวตนและความภาคภูมิใจของเขาไว้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ในฐานะบทบาทของการเป็นผู้นำองค์กร หรือ หัวหน้าคน สิ่งที่ท่านต้องเผชิญอยู่เสมอในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น  คือ  การเป็น “ผู้ขับเคลื่อนคนอื่น” และ  “ถูกคนอื่นขับเคลื่อน” ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะอยู่ในบทบาทไหน  ผมเชื่อว่าเราทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน  นั่นคือการไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม  ทั้งในด้าน วิธีคิด ทัศนคติ พฤติกรรม และความสัมพันธ์

ในบทความนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับเคล็ดลับง่ายๆที่ประกอบด้วยกระบวนการคิด หลักจิตวิทยา และเทคนิคการสื่อสารที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนคนรอบข้างไปสู่สิ่งที่คาดหวัง ท่านสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาความสามารถของพนักงาน ปรับปรุงการทำงานได้เป็นประจำ

      3 กฎทองการขับเคลื่อนทีมงานสู่การเปลี่ยนแปลง

  1. เข้าใจและยอมรับในตัวตนของเขา

เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้ใครสักคนยอมเปลี่ยนแปลงตามความคิดเห็นของเราโดยที่เขายังคงรู้สึกว่าเราไม่ใช่พวกเดียวกับเขา  หากเขายังรู้สึกว่าเราไม่เข้าใจสิ่งที่เขาเป็น เราไม่ได้ยอมรับในตัวตนของเขา อีกทั้งเรายังทำให้เขารู้สึกว่า เรากำลังทำร้ายตัวตนหรือสิ่งที่เขารู้สึกภาคภูมิใจบางอย่าง เขาย่อมรู้สึกว่าเราเป็นภัยคุกคาม การอยู่ห่างเราจึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ไม่ใช่การเดินตามเรา

หลักที่สำคัญ คือ ในการขับเคลื่อนคนสู่การเปลี่ยนแปลงเราต้องเริ่มต้นจากทำให้เขารู้ว่าเราพยายามทำความเข้าใจและยอมรับในตัวตนของเขา เคารพศักดิ์ศรีและการเป็นคนสำคัญของเขา โดยอาศัยหลักพื้นฐานการสื่อสารง่ายๆ ที่สอดคล้องกับหลักจิตวิทยาของการสร้างความสัมพันธ์ เพื่อสร้างความไว้วางใจและความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน

โดยท่านผู้อ่านสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างง่ายๆ คือ

  • ปรับสภาพจิตใจ : การเริ่มต้นสื่อสารบางเรื่องที่ละเอียดอ่อน เรื่องที่มีผลกระทบกับจิตใจของผู้ฟัง จำเป็นที่ผู้พูดต้องปรับสภาพจิตใจของผู้ฟังให้พร้อมรับเรื่องที่เรากำลังจะพูดออกไป วิธีการนี้ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อความรู้สึกเขา
  • สอบถามและรับฟังเหตุผลของเขา : เมื่อเขารู้สึกว่าเราพยายามทำความเข้าใจกับเขา เขาจะเกิดความรู้สึกว่า เขาเป็นคนสำคัญสำหรับเรา เราเห็นคุณค่าของเขา ส่งผลให้เมื่อเราพูดเขาจะแสดงพฤติกรรมแบบเดียวกันเป็นการตอบแทน
  • แสดงความคิดเห็นในมุมมองของเรา : พยายามพูดในบริบทของตัวเราเอง (I) เช่น ผมได้ข้อมูลมา, ผมคิดว่า, ผมรู้สึกว่า … การพูดเช่นนี้เป็นการส่งสัญญาณให้เขารู้ว่า แม้ว่าความเห็นของทั้งคู่จะไม่ตรงกัน แต่เราไม่พยายามบอกว่าใครถูกหรือผิด เราแค่เสนอข้อมูลในมุมมองของเราท่านั้นเอง
  • ขอความคิดเห็นจากเขา : พยายามให้เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เพราะเมื่อเขาได้พูดออกมา เขาจะไม่เกิดความรู้สึกเก็บกดอยู่ข้างในจิตใจ การพูดออกมาจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าภาพความคิด
  • หาจุดร่วม แสดงความเห็นด้วยเป็นระยะๆ : นี่คือหลักจิตวิทยาง่ายๆที่ช่วยให้เราและเขารู้สึกเป็นพวกเดียวกัน เงื่อนไขทางใจที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยที่มีจุดร่วมกันเป็นระยะ จะช่วยลดโอกาสในการเกิดความขัดแย้งระหว่างกัน เพราะต่างฝ่ายพยายามที่จะประคับประครองความรู้สึกทางใจที่มีต่อกันให้ยังคงเน่นแฟ้นเป็นหนึ่งเดียวกัน

เมื่อท่านได้เริ่มต้นนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ ท่านจะพบว่าบรรยากาศในการพูดคุยกันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกฝั่งจะรู้สึกปลอดภัย สัมผัสได้ว่าท่านเข้าใจสิ่งที่เขาเป็น ท่านเริ่มต้นจากการเรียนรู้ว่าเขาเป็นอย่างไรโดยแท้จริง เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้ สิ่งที่ท่านจะบอกกล่าวกับเขาต่อมา เขาจะแปลความไปในทิศทางที่เป็นบวกและสามารถลดอคติที่คอยปิดกั้นลงไปอย่างชัดเจน

  1. ให้ข้อมูลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก (กรอบความคิด, ทัศนคติ, วิธีการ, ความสัมพันธ์)

เพราะเราเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ เมื่อเราแสดงออกถึงความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นแล้ว เราจะใช้โอกาสนี้ในการช่วยเขาดึงศักยภาพที่อยู่ภายในตัวเขาเองออกมาใช้ประโยชน์และพัฒนาให้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งในด้านกรอบความ ทัศนคติ พฤติกรรม และความสัมพันธ์ เพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นมาในอดีต

สิ่งที่เราควรทำในขั้นตอนนี้  คือ การให้ข้อมูลที่มีคุณค่าต่อการตัดสินใจของเขา ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของผู้รับฟัง  ผมเชื่อว่าท่านอาจเป็นคนหนึ่งที่เวลาถูกคนอื่น พูดอะไรบางอย่างแล้ว รู้สึกไม่ดี  มีอารมณ์โกรธ เกิดอาการโมโห  จนหลายครั้งอยากเลิกคบกับคนๆนั้นในทันที  ทั้งที่เมื่อนำสิ่งที่เขาพูดกลับมานั่งคิดทบทวนย้อนไปมาหลายรอบ โดยตัดอคติทิ้งไป เราต่างพบว่า เรื่องที่คนอื่นพูดออกมา ความรู้สึกของเขาที่มีต่อเรา หลายอย่างก็เป็นจริงตามที่เขาพูดออกมาและเกือบทั้งหมดที่เขาบอกเรา ถ้าเรานำไปปรับปรุงตัว จะยิ่งส่งผลดีต่อตัวเรา

ข้อมูลสำคัญที่เราจะต้องบอกเขา  คือ บอกให้เขาเห็นรู้มุมมองด้านต่างๆของเราที่มีต่อเขาในเรื่องนั้นๆทั้งบวก (เราชื่มชม: เพื่อให้เขาเน้นย้ำมากขึ้น)  และ ลบ (เราไม่เห็นด้วย : เพื่อให้เห็นมุมมองบางเรื่องที่เขาอาจละเลย หรือมองข้ามไป) ไม่ใช่การพิสูจน์ว่าเรารู้มากกว่า หรือ เหนือกว่าเขา  โปรดระลึกอยู่เสมอว่าการให้ข้อมูลดังกล่าว เกิดขึ้นจากความปรารถนาดี  ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจต่อกัน ไม่ใช่มุ่งที่การแสวงหาประโยชน์ระหว่างกัน

ข้อมูลที่สำคัญอีกประการคือ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ของเราที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยการสื่อสารให้เขาได้เห็นมุมองที่หลากหลาย ผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือแนววิธีปฏิบัติที่อาจช่วยให้เขาตัดสินใจก้าวไปสู่อีกจุดหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีหลากหลายวิธีที่ท่านสามารถเลือกนำไปใช้เวลาที่ต้องให้ข้อมูลกับคนอื่นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของผู้ฟังและความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน โดยกลวิธีเหล่านี้สามารถประยุกต์ใช้ในการโน้มน้าวจิตใจ การสอน การนำเสนอ การเจรจาต่อรอง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือ ในงานขายเชิงที่ปรึกษา ทั้งนี้การฝึกปฏิบัติควบคู่กับการเรียนรู้เพิ่มเติมเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต่อการนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ ท่านผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากในอินเตอร์เน็ตซึ่งมีอยู่มากมายในเรื่องดังกล่าวนี้

เริ่มต้นด้วยคำถามนำง่ายๆ / หลักการที่ยากปฏิเสธ

ให้เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องใหม่ ตื่นเต้น ต้องลอง

โยงเข้ากับเรื่องที่เขาสนใจอยู่ก่อนแล้ว

ให้เขารู้ว่าทำแล้วดีขึ้น (การเปรียบเทียบ)

ไม่ทำแล้วผลเสียอะไรจะตามมา / แย่ลง

ยกประสบการณ์ตัวเอง / คนใกล้ชิด / คนจำนวนมาก / คนมีชื่อเสียง

ข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ

เปิดเผยข้อบกพร่องบางประการ + วิธีบรรเทา

บอกถึงผลลัพธ์อันมีคุณค่าสูง

จำกัดทางเลือกให้เพียง 3 ทาง

ย่อยเป้าหมายให้เล็ก และง่าย

เสนอให้ลองทำดูก่อน แบบไม่มีความเสี่ยง

การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์

เสนอความช่วยเหลือ  การสนับสนุน

*** กลวิธีให้ข้อมูลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ***
  1. ให้อิสระในการตัดสินใจเลือกทำสิ่งที่ถูกต้อง

ความคาดหวังของคนโดยทั่วไปเมื่อต้องขับเคลื่อนคนอื่น คือ การให้ใครคนนั้นเปลี่ยนพฤติกรรม (Change Behavior) โดยการพูดถึงพฤติกรรมของเขา และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมัน  แต่คนส่วนใหญ่ กลับรู้สึกว่าการ ขับเคลื่อแบบนั้น ไม่ได้โฟกัสไปที่พฤติกรรมของเขา แต่เป็นการไม่ยอมรับในตัวตนของเขา ต่อต้านเขา ทำให้เขาสูญเสียศักดิ์ศรี และเป็นภัยคุกคามที่พยายามจะทำลายความภาคภูมิใจของเขาที่มีอยู่    ถ้าท่านรู้จักพลังของคำว่า “ตัวตน” ท่านจะรู้ทันทีเลยว่า เมื่อเรารู้สึกว่าถูกวิจารณ์ ตัวตนที่ใหญ่ที่สุดในตัวเราที่เรียกว่า “ศักดิ์ศรี” ตัวนี้จะทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด  จนต้องสร้างเกราะขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวตนของเรา  คนจะรู้สึกนับถือตัวเอง    เมื่อเขาได้ตัดสินใจเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยตัวเขาเอง เขาจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเอง และเขาจะทำมันอย่างเต็มที่ถ้ารู้สึกว่าความคิดหรือหนทางที่เกิดขึ้นนั้นมาจากตัวเอง

เมื่อเราให้ข้อมูลที่สำคัญแก่เขาเพียงพอแล้ว  จงอย่าทำให้คนรู้สึกว่ากำลังถูกท่านเกลี้ยกล่อมอยู่  จงทำเพียงแค่ขอให้เขารับฟังข้อมูลใหม่บางอย่างแล้วหลังจากนั้นให้เขาเป็นคนตัดสินใจเอง เขาจะได้เลือกในสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าเขายังไม่สามารถตัดสินใจได้ ท่านโปรดลองมาพิจารณาว่าข้อมูลที่ท่านให้เขาไปเพียงพอต่อการที่เขาจะตัดสินใจหรือไม่  ผมเชื่อว่าคนเรามีเหตุผลในการทำ หรือ ไม่ทำอะไร ขอให้ท่านผู้อ่านเพียงช่วยเขาให้เต็มความสามารถเท่านั้นพอแล้วครับ เพราะสุดท้ายเราทุกคนต้องรับผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตัวเอง นี่คือ ความจริงที่หลีกเลี่ยงได้ยาก